เยอะแบบนี้น่าจะไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ดีกว่าไหม? |
จริงหรือที่ว่าไม่มีทางเลือก?
หรือมีแต่ตัวเลือกที่อุปโลกน์ขึ้นจากผู้ผลิต นักโฆษณา และนักการตลาด?
แล้วทำไมตัวเลือกที่โฆษณาตัวเองซะดิบดีว่าจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ดีขึ้น กลับทำให้ทุกๆอย่างในสังคมโดยรวมมันยุ่งยากมากขึ้น บีบคั้นคับแคบมากขึ้น กระเสือกกระสนดิ้นรนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เอ....หรือคุณก็ไม่เคยตั้งคำถามในลักษณะนี้กับชีวิต เพราะมันอาจจะเป็นคำถามที่คุณไม่กล้าเผชิญหน้ามันก็ได้
ความยุ่งยาก ความคับแคบ บีบคั้นทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดจากหลักการของระบบทุนนิยมเอง ซึ่งระบบทุนเป็นระบบที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผู้แข็งแกร่งย่อมอยู่รอด ผู้อ่อนแอย่อมปราชัย หลักการนี้ก่อให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงกันอย่างถูกกฏหมาย(ไม่เชื่อไปถามอเมริกาหัวหอกใหญ่สิจริงไหม) แม้กระทั่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยก็ไม่ได้ช่วยแก้อะไรเพราะเขาเปิดให้แข่งขันเสรี จะเบียดเบียนกันยังไงก็ได้ กติกามีแค่ห้ามฆ่าแกงหรือทำร้ายกันตรงๆ แต่เขาไม่ได้ทำร้าย ทำลายกันในทางเศรษฐกิจเสียที่ไหน
แน่นอนที่ว่าระบบทุนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ถ้าความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้มาจากการเบียดเบียน หลอกลวงผู้ที่ด้อยกว่าทั้งทางด้านโอกาสและปัญญา ซึ่งความเหลื่อมล้ำทั้งหลายก็นำมาซึ่งความคับแคบในชนชั้น ในระดับชั้นที่ถูกแบ่งด้วยระบบ market segment ที่แบ่งสังคมออกไปตามระดับรายได้(เงิน) ทำให้คนมีเงินก็มีทางเลือกน้อยลง เพราะไม่กล้าที่จะไปใช้สินค้าและบริการที่ถูกกว่า เนื่องจากต้องรักษาหน้าตา(ที่ค่อนข้างจะบาง)ของตนในสังคมเอาไว้ ได้แต่ขึ้นหิ้งที่นักการตลาดจงใจอุปโลกน์สร้างภาพแบ่งเอาไว้เพื่อดูดเงินของคนในแต่ละระดับได้อย่างเต็มที่สมฐานะ
ส่วนคนระดับล่างก็ถูกกีดกันอย่างไม่เป็นทางการจากในหลายๆลักษณะ โดยจะวัดกันจากเงินในกระเป๋าเป็นหลัก เช่น ถูกกีดกันจากการใช้บริการในบางสถานที่ซึ่งหรูหรามีระดับ หรือแม้กระทั่งการรักษาพยาบาลที่บางโรงพยาบาลจะถามก่อนจากการแต่งตัวว่ามีเงินหรือไม่ นี่คือเหตุผลที่ทำให้โลกนี้มันแคบลงถนัดใจ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรทั้งหลายที่เริ่มทำให้โลกแคบลง แต่เดี๋ยวเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจะยกไปกล่าวถึงอย่างละเอียดในอีกต่อหนึ่งเพื่อความมัน
ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการแบ่งแยกระดับชนชั้นก็คือ การมีเส้นสายในหน่วยงานและวงสังคมต่างๆ ถ้าคุณมีเส้นสายกับผู้มีอำนาจอิทธิพล ชีวิตก็จะสะดวกสบายหน่อย แต่ถ้าคุณเป็น nobody หรือใครที่ไหนก็ไม่รู้ ก็อาจจะมีสิทธิ์ตายอย่างหมาได้ในทุกที่ทุกเวลา อันนี้คงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนกันอีกต่อไปแล้ว พูดตรงๆนี่แหละ รับได้หรือไม่ได้มันก็เป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ณ ปัจจุบัน
ซึ่งสรุปโดยรวมแล้วก็คือ เมื่อไหร่ที่คุณมีเงิน อำนาจ ชื่อเสียง ผู้คนทั้งหลายก็พร้อมจะยอมก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์ให้คุณงามๆ 3 ครั้งโดยไม่จำเป็นต้องเงยขึ้นมามองเลยว่าคุณเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือไม่ ทีนี้เข้าใจหรือยังว่า ผู้คนเขาไม่ได้ไหว้คุณเพราะตัวคุณหรอกนะ เขาไหว้กันที่จำนวนเงินในกระเป๋ามากกว่า แต่ถ้าคุณไม่มีเงินในสังคมนี้ สถานภาพของคุณก็จะไม่ต่างอะไรกับ...(เติมเอาเอง)
แต่ตอนเช้ากับตอนเย็นเราจะได้เห็นความเท่าเทียมกันอยู่บ้างบนท้องถนนที่มีพื้นที่อันน้อยนิด เราจะพบว่ารถซุปเปอร์คาร์สุดหรูหรือรถคันเล็กๆ ก็วิ่งที่ความเร็วเท่ากัน ติดหนึบเหมือนกัน และคนขับรถทุกคันก็เป็นมีความเสียงที่จะเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเหมือนกัน(ฮา)...อยู่ในหลุมเดียวกันน่ะนะ แบ่งแยกไปคงไม่มีผลเท่าไหร่
อย่างที่บอกไปแล้วไงครับว่า ทรัพยากรทุกอย่างในโลกค่อยๆน้อยลง ที่เหลืออยู่ก็แพงขึ้น แถมตกอยู่กับนายทุนไม่กี่กลุ่มในโลก ความมั่งคั่งทั้งหมดในยุคนี้จึงมาจากการเบียดเบียน บีบคั้น ล่อหลอกเอาจากคนระดับล่างซึ่งมีมากมายมหาศาล การเบียดเบียนเบียดบังจากภาษีประชาชน การเบียดบังจากงบประมาณแผ่นดินผ่านการคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆ โดยฝีมือของผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ตกเป็นทาสของตัณหาตนอย่างสิ้นเชิง เมื่อการเบียดเบียนเพิ่มขึ้น สังคมจึงคับแคบคับแค้นกดดันมากขึ้น อยู่ยากยิ่งขึ้น
พอชีวิตมนุษย์เริ่มอยู่ยาก ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น นายทุนทั้งหลายก็ผลิตสินค้าหรือบริการที่ดูเหมือนจะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายออกมาขายเพื่อช่วยให้เรื่องยุ่งๆที่มีอยู่แล้วง่ายขึ้น...แต่เป็นชั่วคราวนะ เพราะที่สุดแล้วไอ้เงินที่จ่ายเพิ่มเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้นก็จะเป็นปัญหาก้อนใหม่ให้แบกต่อไป วิถีวิธีการแก้ปัญหาที่ว่าสะดวกสบายซึ่งนำเสนอโดยนักการตลาดและนักโฆษณานั้น จริงๆแล้วมันก็คือการหลอกลวงให้ไปติดกับดักความยุ่งยากอย่างใหม่ๆทั้งนั้น นี่คือยุคสมัยที่เราถูกหลอกลวงชักจูงให้แก้ปัญหาอย่างผิดๆมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลยก็ว่าได้
แม้กระทั่งคนที่มีเงินก็ไม่ใช่ว่าชีวิตจะยุ่งยากน้อยลงนะครับ เขาก็ต้องไปสาละวนวิ่งหาเงินมาจ้างคนอื่นให้แบกความยุ่งยากแทน ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามพิการ ห้ามโดนโกง ห้ามล้มละลายเหมือนๆกันหมด ไม่งั้นความยุ่งยากที่เขาเหล่านั้นสร้างเอาไว้มากมายตามอำนาจเงินก็จะถาโถมถถล่มทับเอาจนได้ในที่สุด ดังที่เราได้เห็นหนังสือประวัติชีวิตดรามาอิงธรรมะทั้งหลายอันเป็นเรื่องราวของคนเคยล้มแล้วลุกขึ้นมาได้จากความพากเพียรของตน(อีกครั้ง) ที่พอลุกแล้วก็ลงสนามเบียดเบียนผู้คนเพื่อความมั่งคั่งของตนอีก จะได้มีเงินเอาไว้จ้างคนอื่นแบกความยุ่งยากเหมือนเดิม ซึ่งที่สุดแล้ววังวนนี้ก็จะทำลายตัวเองครับ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรจริงแม้แต่นิดเดียว
เพราะอะไร?
เพราะเมื่อช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างกว้างถึงระดับหนึ่ง คนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็จะถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องลงไปอยู่ระดับล่าง จะมีส่วนน้อยนิดที่กระเสือกกระสนขึ้นมาระดับบนได้ ความบีบคั้นตึงเครียดที่เกิดจากการแบ่งแยกจะเพิ่มสูงขึ้น คนรวยที่ได้รับอภิสิทธิ์และความสะดวกสบายก็ใช่ว่าจะสุขสบายจริง เพราะต้องคอยระแวงระวังกับชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ต้องขังตัวเองเอาไว้กับทรัพย์สินด้วยความหวาดกลัว โดยอาศัยนอนหลับอย่างสบายภายใต้ระบบป้องกันโจรภัยนานาชนิด
ส่วนคนจนก็จะมีทางเลือกในชีวิตน้อยลงๆ จนถึงขั้นที่เรียกว่า "ปิดประตูตีแมว" คือไม่มีทางเลือกจนต้องกลายเป็นเปรตเดินดิน ถึงจุดนี้ก็ลองนึกถึงภาพนักเดินป่ากระจุกมือที่ใช่ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝูงมนุษย์กินคนดูนะครับ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ถึงตรงนั้นเมื่อไหร่ สังคมก็จะล่มสลาย ความตึงเครียดบีบคั้นก็จะระเบิดออกโดยที่กฏหมายบ้านเมืองก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่ากฏหมายอยู่ข้างใครโดยพฤตินัย และไม่ต้องเดาเลยว่าหวย(ความรุนแรง)จะไปออกที่คนกลุ่มไหน จริงไหมครับ คนมันเครียดก็ต้องหาทางระบายน่ะนะ
เนื้อหาที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อิงมาจากแนวคิดสังคมนิยมนะครับ เพราะสังคมนิยมก็ห่วยแตกพอๆกัน แล้วไม่ต้องพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์หรอกครับ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่เห็นแก้อะไรได้สักคน ได้แต่เย้วๆเรยีกร้องความสนใจไปวันๆ แต่เนื้อหาทั้งหมดนี้มาจากเนื้อหาสัจธรรมของชีวิตที่ไม่ว่าจะใครจะใหญ่โตจากไหนมันก็แค่อาศัยอยู่ชั่วคราวไม่เกินไปกว่า 100 ปี เอาอะไรไปก็ไม่ได้ ก็ไม่รู้จะมัวแต่เบียดเบียน ทำร้ายทำลายกัน ทำให้โลกกลายเป็นนรกขุมใหม่กันไปทำไม
อารยธรรมแห่งความยุ่งยาก สับสน และคับแค้นจากการเบียดเบียนอย่างนี้ ไม่ต้องรอให้ใครมาต่อต้านหรือทำลายหรอกครับ เดี๋ยวมันจะล่มสลายไปด้วยตัวมันเอง ถ้ามันบีบคั้นกันเองมากขึ้นเรื่อยๆ กินเลือดกินเนื้อกันเองมากขึ้นเรื่อยๆ จะมุ่งเอากอบโกยเอามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันแบ่งปันกัน สักวันมันก็จะล่มสลายทำลายทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เห็นในชั่วอายุคนนี้นี่แหละ อย่างที่เราได้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากกลุ่มเคลื่อนไหว occupy Wall street ที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มแรกๆในการต่อต้านการผูกขาดของระบบทุนต่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ซึ่งผมเชื่อว่าแก้อะไรไม่ได้เพราะตัวตลาดหุ้นเองมันเป็นแหล่งเจริญตัณหาความละโมบกันอยู่แล้ว
ซึ่งในสภาวการณ์บีบคั้นเช่นนี้ ทางเลือกทางรอดจากภัยเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่ว่าไม่มี การแก้ไขมันมีอยู่แต่ไม่ใช่การดิ้นรนแสวงหาให้มากขึ้น เพราะยิ่งดิ้นก็ยิ่งติดยิ่งทุกข์ แล้วไอ้ที่เราดิ้นๆกันทุกวันนี้ก็เพราะมายาแห่งค่านิยมผิดๆทั้งนั้นที่กระตุ้นเราให้เต้นด้วยความร้อนรน ก่อนอื่นเลยก็ต้องรู้จักพอเสียก่อน เปิดตาเปิดใจให้เห็นความจริงที่ถูกม่านมายาปิดบังความจริงอันพื้นฐานของชีวิตอยู่ และยอมรับความจริงนี้เสียก่อน ให้รู้จักคำว่าพอ ไม่ใช่แค่พอเพียง เพราะพูดถึงตัณหามันไม่เคยพอหรอก มีตัณหาเมื่อไหร่ก็เดือดร้อนไปเรื่อยไม่รู้จบ
เมื่อรู้จักพอแล้วก็พยายามตัด"คนกลาง"ออกจากชีวิตบ้าง เพราะพวกนี้แหละตัวฟองสบู่เลย แล้วก็เริ่มพึ่งตนเองบ้าง พึ่งพากันเองในชุมชนบ้าง เลิกบ้าไปกับกลยุทธการขายจากนักการตลาดเสียบ้าง พึ่งพาเงินให้น้อยลง เกื้อกูลและเอื้อเฟื้อผู้อื่นโดยไม่ต้องหวังผลตอบแทนบ้าง จริงจังเคร่งเครียดให้มันน้อยลง เพียงแค่นี้ คุณก็ไม่ต้องไปดิ้นรนหาอะไรมาแก้ความยุ่งยากแล้ว ปัญหาความยุ่งยากต่างๆมันจะค่อยๆลดลงเอง ความบีบคั้น ความคับแคบทั้งหลายจะคลี่คลายออกไปเองจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น
ไม่เชื่อลองนึกดูนะครับ ถ้าวันใดที่คนในสังคมรู้จักคำว่าพอ ไม่ดิ้นรนไปข้างหน้าอย่างไร้เหตุผล โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของโลกใบนี้ หันมาให้ซึ่งกันและกัน เกื้อกูล เอื้อเฟื้อกันโดยไม่หวังผลตอบแทน ความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร การเบียดเบียนจะน้อยลง ความหวาดกลัวหวาดระแวงภัยในชีวิตจะน้อยลง ความคับแคบก็จะหมดไป โลกมันก็จะกว้างอย่างที่มันเคยเป็น ไม่ใช่คับแคบไปด้วยทิฏฐิตัวตนอย่างทุกวันนี้
วันหนึ่งข้างหน้าเมื่ออารยธรรมแห่งความยุ่งยากและคับแคบที่เป็นกันอยู่ ณ ปัจจุบันล่มสลายลง สังคมมนุษย์จะเดินด้านไปต่อได้ด้วยระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ขับดันด้วยความเกื้อกูลและการให้ เพราะถ้าจะมุ่งเอาผลประโยชน์สูงสุดแห่งตนเป็นที่ตั้งเหมือนเดิม รับรองว่าสุดท้ายก็ไปไม่รอดเหมือนเดิมครับ
No comments:
Post a Comment