ว่ากันตามอุดมคติของระบบทุนนิยมแล้ว ทุนนิยมคือระบบการค้าเสรีที่ไม่มีขีดจำกัด มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเปิดเผยไม่ปิดกั้น โอกาสทางธุรกิจจึงเป็นของทุกคนไม่ว่าจะรวยจะจน และเชื่อกันว่าการแข่งขันเสรีนี่เองที่จะทำให้ไม่มีการผูกขาดขึ้นในระบบ เพราะจะมีธุรกิจหน้าใหม่ๆเข้ามาท้าชิงตำแหน่งที่หนึ่งเสมอ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อธุรกิจเติบ "ใหญ่" ถึงจุดหนึ่ง ทฤษฎีข้างต้นก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะบริษัทนั้นจะครอบคลุมปัจจัยความจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้คนไปเกือบจะหมดทุกเรื่อง ซึ่งคนในระบบทุนนั้นถูกเลี้ยงดูและสอนกันมาแบบให้พึ่งพาระบบด้วยการซื้อและบริโภคอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาบริษัทผลิตสินค้าเหล่านั้นจนเกิด "การผูกขาดแฝง" ขึ้น ชนิดที่กฏหมายทำอะไรไม่ได้ ตัวอย่างก็เช่นบริษัทผลิตปิโตรเลี่ยมและน้ำมันยี่ห้อหนึ่งที่กำลังถูกโจมตีอย่างหนักในโลกไซเบอร์นั่นเอง
นอกจากการผูกขาดแฝงในลักษณะสร้างเงื่อนไขความจำเป็นให้เกิดกับผู้บริโภคแล้ว บริษัทยักษ์เหล่านี้ก็ยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะผูกขาดช่องทางหารายได้ต่างๆ จนธุรกิจรายย่อยที่อยู่ในตลาดเดียวกันไม่สามารถยืนอยู่ได้ เช่น การบังคับขายเหล้าพ่วงเบียร์เพื่อให้เบียร์ยี่ห้อใหม่ได้เกิดในตลาด หรือ โมเดิร์นเทรดเรียกเก็บค่าวางสินค้าบนชั้นวางและรีดค่าทำโปรโมชั่นและของแถมอีกมากมาย โดยที่โมเดิร์นเทรดเหล่านี้ไม่ต้องออกเงินเลย ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยแทบจะไม่มีกำไรและไม่มีทางเลือกอื่นที่จะกระจายสินค้าของตนไปสู่ผู้บริโภควงกว้าง อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น เครือร้านอาหารใหญ่รายหนึ่งสามารถที่จะกดดันห้างสรรพสินค้าไม่ให้รับผู้ค้าที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับตนเข้ามาตั้งร้านแข่งในห้างเดียวกันได้