Monday, May 20, 2013

ความล่มสลายแห่งวิถีปัจเจกนิยม

ผมเห็นบ้านเศรษฐีหลายหลังมีรั้วสูง กะคร่าวๆน่าจะประมาณ 4 เมตร มีรั้วลวดหนามอยู่ข้างบนกำแพงอีกทีหนึ่ง มีกล้องวงจรปิดทั้งในและนอกตัวบ้าน มีหมาดุๆไว้เฝ้าบ้าน ลูกกรงเหล็กแน่นหนาจนนึกไม่ออกว่าจะมีไอ้บ้าที่ไหนกล้าเข้าไปขโมยของ ทั้งหมดนี้ทำให้ผมแปลกใจว่านี่โลกเราเจริญกันขนาดต้องสร้างคุกขังตัวเองกันขนาดนี้เลยหรือ? นี่เรากำลังอยู่ในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือยังไง? ทั้งๆที่มองไปรอบๆตัวมีแต่ความเจริญ

ไม่แค่รั้วบ้านเท่านั้นนะครับที่สูงจนใจหาย แต่ความเป็นปัจเจกของผู้คนสมัยนี้ก็สูงจนทำให้คนมากมายแปลกแยกออกจากเพื่อนบ้านจนแทบจะกลายเป็นคนแปลกหน้ากันไปเลย บางบ้านอยู่ติดกันยังไม่รู้จักกันเลยก็มี หรือดีไม่ดี แค่เราเผลอไปมองหน้าใครบางคนก็อาจจะถูกฆ่าเอาได้ง่ายๆ มันบ้ากันขนาดนี้แล้วจริง

วิถีแห่งปัจเจกนิยมนี่แหละครับคือต้นเหตุของปรากฏการณ์ตัวใครตัวมันที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้

สังคมทุกวันนี้จึงแห้งแล้งและวังเวงอย่างยิ่ง เพราะวิถีแห่งปัจเจกนิยมจะสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติสุขก็ต่อเมื่อคุณสามารถจ่ายต้นทุนให้มันได้เพียงพอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณล้มลงหรือไม่สามารถที่จะหาเงินมาจ่ายต้นทุนของวิถีแห่งปัจเจกนั้นได้ คุณก็จะล้มลงท่ามกลางผู้คนมากมายที่รายรอบคุณเต็มไปหมดแต่ไม่มีใครสนใจคุณเลยแม้แต่คนเดียว ดีไม่ดีก็จะมีคนมากมายรุมทึ้งคุณ เหยียบย่ำคุณ จนคุณรู้สึกว่าทำไมโลกนี้ช่างโหดร้ายเหลือเกิน แต่อันนี้ต้องให้เจอกับตัวก่อนนะ พูดอธิบายอย่างนี้ไม่รู้ซึ้งหรอก

วิถีแห่งปัจเจกนิยมนั้น เกิดขึ้นมาเกือบจะพร้อมๆกับระบบทุนนิยม เพราะวิถีแห่งปัจเจกนั้นต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการหล่อเลี้ยงตัณหาส่วนตัว เพื่อที่จะให้ได้อภิสิทธิ์พิเศษที่จะสามารถเข้าถึงความเป็นปัจเจกส่วนตัวได้ทันทีตรงนั้นเดี๋ยวนั้น และเพื่อคุณโดยเฉพาะเท่านั้นทันที พูดง่ายๆว่ามีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด

และด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนจะพิเศษนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนมากมายดิ้นรนไขว่คว้าหาความพิเศษนี้ จนกลายเป็นความเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ การฆ่ากันทางเศรษฐกิจ ทำความสัมพันธ์ทั้งหลายของผู้คนที่เคยมีมานับตั้งแต่อดีตจึงมลายหายไป เหลือแต่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และคำถามที่ว่า "คุณมีเงินหรือเปล่า?"

วิถีแห่งปัจเจกนิยมนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์อย่างหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในแง่ลบ มันทำให้โลกคับแคบลงจากกำแพงราคาค่าใช้จ่ายสำหรับความเป็นปัจเจกนั้น เพราะคนไม่มีเงินก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงสินค้าหรือบริการต่างๆได้ และของทุกวันนี้มันก็แพงเอาๆ จนคนจนแทบจะกระดิกตัวไปไหนไม่ได้แล้ว ถึงขนาดที่ว่าบางสถานที่นั้น คนจนหรือคนที่แต่งตัวไม่ภูมิฐานก็เข้าไม่ได้ด้วยซ้ำไป ทั้งๆที่โลกนี้มันก็ไม่ได้เป็นของใครเพียงคนเดียวมาตั้งแต่ต้น

เรียกว่าแค่ฐานะทางการเงินอย่างเดียวก็ไปจำกัดสิทธิ์ทั้งหลายจนหมดสิ้น ทำให้ต้องอยู่กันอย่างแร้นแค้นคับแคบ นี่เองที่เรียกว่าโลกมันคับแคบลง แม้กระทั่งคนรวยก็มีโลกที่คับแคบลงเหมือนกัน เพราะมันแบ่งแยกพื้นที่กันด้วยฐานะทางเศรษฐกิจเสียแล้ว สิ่งที่ตามมาคือปรากฏการณ์ตัวใครตัวมัน เพราะกระดิกตัวทีก็เป็นเงิน ดังนั้นทุกคนจึงต้องแบกต้นทุนของตัวเองไปจนตาย บางบ้านที่เลี้ยงลูกแบบปัจเจกมากๆ พอพ่อแม่แก่ตัว มันก็เอาไปทิ้งไว้บ้านพักคนชราเลยก็มี เพราะไม่อยากเห็นสิ่งไม่เจริญหูเจริญตาของสังขารอันเสื่อมโทรมของคนที่เคยเลี้ยงดูมันมา ก็นะเลี้ยงมาให้เห็นแต่สิ่งสวยงามไม่ใช่สภาพความเป็นจริงมันก็ได้ผลประมาณนี้แหละ

ไม่เท่านั้นนะครับ ความเป็นปัจเจกยังส่งผลในอีก 2 ลักษณะคือ ถ้าเป็นปัจเจกแบบพึ่งตัวเองมากๆ มีอะไรก็ทำเองได้หมด ก็จะขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมไปเลย ขาดความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกับคนในสังคม เห็นแก่ตัว เอาตัวรอดเป็นหลัก กับอีกลักษณะหนึ่งก็คือ ปัจเจกบนพื้นฐานบริโภคนิยม คือประเภท ฉันมีเงินจ่าย ฉันซื้อได้ทุกอย่าง ฉันมีสิทธิ์ อย่างหลังนี่จะเป็นพวกที่พึ่งพาตนเองไม่ได้เลย ตัดขาดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหมือนกัน ได้แต่พึ่งระบบอย่างเดียว แต่เพราะมีเงินก็เลยอัตตาเสียเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จึงไม่มีส่วนร่วมกับความล่มสลายกับสังคมแต่อย่างใด

อาจจะมีคนเถียงว่า อ้าว คนเขาเก่งเฉพาะด้านไง ทำเงินได้มาก อย่างนี้ก็เรียกว่าพึ่งตนเองได้ไม่ใช่หรือ?

ถามว่าคนเก่งที่ไม่ต้องโปรโมทขายตัวเองน่ะจะมีเงินเข้าหรือ แล้วถ้าไม่มีลูกค้าหรือคนจ้างมันจะรอดหรือ ในเมื่ออย่างอื่นก็ทำไม่เป็นแล้ว หรืออีกที ถ้ามีเงินแล้วซื้อของกินและน้ำดื่มไม่ได้เหมือนช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 อย่างนี้จะเรียกว่าพึ่งตนเองได้หรือไม่?

คนเก่งเฉพาะด้านนั้น เก่งมากอัตตาก็มากครับ หมอบางคนก่อนหน้าที่จะเรียนและทำงานเป็นหมอ พ่อแม่ก็เรียกชื่อเล่นปกติ แต่พอเรียนจบมาเป็นหมอแล้ว ก็ให้พ่อแม่เรียกหมอนำหน้าชื่อเล่นก็มีนะครับขอบอก

วิถีแห่งความเป็นปัจเจกยังส่งผลให้เกิดการบริโภคอย่างมหาศาลเกินความจำเป็น จนส่งผลให้ขยะล้นโลก เพราะสินค้าบางอย่างที่เราซื้อมา ใช้แค่ครั้งหรือสองครั้งหรือใช้ไม่นานก็หมดประโยชน์แล้ว ซึ่งหากเป็นในลักษณะที่อยู่กับเป็นชุมชนจริงๆ มันก็แบ่งปันกันได้ แต่ด้วยความที่ตัวใครตัวมัน ความเห็นแก่ตัว ขาดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ก็ทำให้ทุกคนจำต้องซื้อสินค้านั้นๆมาใช้เฉพาะของตนเอง แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าใช้แค่ไม่กี่ครั้งก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกแล้วก็ตาม

นอกจากนั้นความเป็นปัจเจกนิยมนี้เองที่ทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องกันมากมาย ฆ่ากันเพราะแค่มองหน้ากัน ขับรถปาดหน้าก็เยอะ เพราะทุกคนยึดถือ"สิทธิ์"ของตนมากเกินไปโดยลืมไปว่ามนุษย์ก็มีความผิดพลาดพลั้งเผลอเป็นปกติตามธรรมชาติ เรื่องราวของการฆ่าแกงกันอันเกิดจากความเป็นปัจเจกก็มีให้เห็นไม่น้อยในปัจจุบัน

นี่ยังไม่นับคนที่ตกขอบสังคมอย่างคนพิการ คนปัญญาอ่อน คนที่ไร้สมรรถภาพในการทำงาน ซึ่งกลายเป็นเหมือนสินค้ามีตำหนิที่ระบบทุนไม่ต้องการ (อย่าปฏิเสธความจริงกันเลย) ทั้งๆที่เกิดมาบนโลกใบเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติของโลกก็ล้วนแล้วแต่ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของมาก่อนเหมือนๆกัน แต่ทำไปทำมาระบบทุนก็ไม่ได้กระจายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติกลางของโลกเหล่านั้นให้ทั่วถึงทุกคนอย่างเป็นธรรมเลย เรื่องนี้มันงี่เง่าถึงกับมี CEO บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่รายหนึ่งโลกพูดว่า แหล่งน้ำไม่ควรที่จะเป็นของสาธารณะด้วยซ้ำไป คือมันต้องการที่จะครอบครองเอาไว้ฝ่ายเดียวในลักษณะของสัมปทานแล้วให้คนซื้อน้ำไปดื่มกันนั่นเอง (คิดดูก็แล้วกันครับว่า ตอนนี้บางรัฐของอเมริกาถือว่าการกักเก็บน้ำฝนเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายไปแล้ว)

ยิ่งสิทธิ์ทั้งหลายขึ้นตรงต่ออำนาจเงินมากเท่าไหร่ ความเป็นปัจเจกก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามจำนวนเงิน นายทุนมหาเศรษฐีใหญ่ของโลก มองเห็นผู้คนในสังคมเป็นเพียงผู้บริโภคหรือเครื่องปั๊มความมั่งคั่งทางการเงิน โดยไม่ได้สนใจว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบอะไรกับสังคมโดยรวม ขอให้กูรวยเป็นใช้ได้ ทุกวันนี้เราจึงเห็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ใหญ่เสียจนเบียดเบียนคนตัวเล็กๆจนไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงอะไรไปจนถึงการไม่มีที่ยืนในทางธุรกิจได้เลย ยกตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ในอเมริกา สามารถบังคับรัฐบาลไม่ให้ติดฉลาก GMO บนผลผลิตของตนได้ เป็นการปิดบังข้อมูลต่อผู้บริโภคอย่างน่าเกลียด แถมยังทำถึงขนาดออกกฏหมายควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์พืชต่อเกษตรกร และบีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่จะเพาะปลูกด้วยซ้ำไป

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ชีวิตของคนในปัจจุบันอยู่ยากมากขึ้น สลับซับซ้อนเกินความจำเป็นมากขึ้น อึดอัดขัดเคือง หวาดระแวง แร้นแค้นท่ามกลางความหรูหราฟุ่มเฟือยที่เหมือนจะดูดีมากขึ้น เกิดความตึงเครียดจากกฏเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อจำกัดและสิทธิ์ต่างๆที่มีมากและหยุมหยิมอันเกิดจากกฏหมายที่เอื้อต่อธุรกิจรายใหญ่มากจนเกินไป ทำให้ผมแปลกใจว่า นี่โลกเรากำลังเจริญขึ้นหรือกำลังล่มสลายกันแน่ เพราะสื่อต่างๆก็สร้างภาพความเจริญกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ไหงความเป็นจริงเรากลับอึดอัดคับแค้นสวนกระแสคำโฆษณาจนแทบจะไม่เป็นผู้เป็นคนกันแล้วในวันนี้

อธิบายกันมาถึงขนาดนี้แล้วก็สามารถฟันธงได้เลยว่า สังคมมนุษย์ในวิถีทางแห่งปัจเจกนิยมกำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว เพราะการเบียดเบียนจะรุนแรงมากขึ้น การบีบคั้นทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น ความแร้นแค้นจะแพร่กระจายราวกับโรคระบาด จนทำให้การเข่นฆ่ากันจะมีมากขึ้น สังคมจะหดหู่และวังเวงราวกับวันสิ้นโลกได้มาเยือน เพราะความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและฐานะทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจนทำให้คนส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในสถานะยากจนขนาดไม่มีจะกิน ในขณะที่คนกลุ่มเล็กๆ สามารถจ่ายเงินกินข้าวมื้อละเป็นแสน หรือบินไปกินข้าวที่ต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานต่อได้ในวันเดียว

ความแตกต่างระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจและสิทธิ์พื้นฐานของชีวิตนี้เอง จะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของสงครามล้มล้างชนชั้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ไกลนี้ รอแค่ว่าเมื่อไหร่ที่คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้เท่านั้นเอง

ให้ท่านพึงตระหนักไว้เถิดว่าวันใดที่สังคมล่มสลายเพราะความแตกต่างทางชนชั้น ไอ้รั้วบ้านที่เคยสูงๆ เหล็กดัด ลวดหนามที่แน่นหนา กล้องวงจรปิดรอบบ้าน ตลอดจนถึงกฏหมายบ้านเมืองที่เขียนเอื้ออำนวยให้ชนชั้นบนก็จะต้านทานกระแสความคลั่งแค้นของผู้คนส่วนใหญ่ที่ "เสียสิทธิ์" จน "หมดสิทธิ์" เอาไว้ไม่ได้อีกต่อไป

ถึงตอนนั้นก็คงขอยืมคาถาของชาวปัจเจกนิยมมาใช้ล่ะครับ...ตัวใครตัวมัน เพราะเวลาเลือดเข้าตา คงไม่มีใครห้ามใครได้หรอกนะครับ

No comments:

Post a Comment