โดนครอบงำให้เป็นแค่ผู้บริโภคมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วจะเป็นอิสระได้ยังไง? |
ผมเชื่อว่าต่อคำถามข้างต้นนี้จะทำให้คนเกือบทั้งหมด ยกมือกันเป็นแถว ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีรถขับ มีบ้านอยู่ มีเงินเป็นล้านๆก็ตาม
เพราะอะไร? เกิดจากอะไร? ทำไมเราถึงยังรู้สึก"จน" อยู่ แม้เราจะมีข้าวกินอิ่ม 3 มื้อ มีบ้านอยู่ มีรถขับก็ตาม?
ความรู้สึก"จน"ที่ว่านี้เป็นมายาภาพที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการทั้งหลายร่วมมือกันสร้างขึ้น เพื่อให้เรารู้สึกว่าชีวิตยังไม่ดีพอ โดยสร้างเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้ชีวิตดีพอก็ต้องเป็นแบบที่เขานำเสนอในโฆษณาสินค้าถึงจะเรียกว่าดีจริง
เมื่อรู้สึกว่ายังไม่พออยู่เรื่อยๆ ก็จะขับดันให้ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่เรื่อยๆ จากแค่ความรู้สึกไม่พอ ก็กลายเป็นปมด้อย กลายเป็นความรู้สึกว่าจน จนความรู้สึกมันสะท้อนออกมาทางแววตา บางคนดิ้นรนสนองภาพมายาของความรู้สึกมากๆเข้าก็ถึงกับจนไปจริงๆก็มี บางคนเห็นแล้วน่าเตะมาก ตัวเองมีมือถือสมาร์ทโฟนไม่รู้กี่เครื่อง แต่ดันทำตัวเหมือนยากจนข้นแค้นเหลือเกิน หรือจนจริงๆแต่รสนิยมสูงก็ไม่รู้
การที่เราจะตื่นจากความรู้สึกว่าจนได้ก็ไม่ยากครับ ลองพิจารณาดูตัวเองสิว่ามีข้าวกิน 3 มื้อหรือเปล่า ถ้ายังมีข้าวกินตามปกติ ไม่ต้องถึงขนาดนับรวมมื้อที่กินในภัตตาคารหรูๆเข้าไปด้วย ก็เรียกว่าไม่จนแล้วครับ มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกว่าจนเท่านั้นเอง
ที่สำคัญคือ คำว่า"จน"และ "รวย" นี้กลายเป็นมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้อุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อใช้วัดใครต่อใครว่าจนหรือรวย พอเอามาตรฐานความจนความรวยที่กำหนดขึ้นโดยคนรวยมาเป็นตัวชี้วัด วันดีคืนดี ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนาที่อยู่ดีกินดี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร และมีความสุขกับความเรียบง่ายในท้องถิ่น ก็ดันกลายเป็นคนจน(แบบโดนติดป้ายให้)ขึ้นมาทันทีตามคำนิยามใหม่ เพราะดันไปเชื่อนายทุนว่าแบบที่เป็นอยู่เดิมๆน่ะมันคือความจน ความด้อยพัฒนา ความล้าหลัง
ว่าแล้วชาวชนบทที่บ้าจี้ตามคำชวนเชื่อจากนายทุน(และรัฐ)ก็กระเสือกกระสนที่จะรวยแบบนายทุนเขาบ้าง ทุกวันนี้เราก็เลยเห็นเปรตเต็มไปหมด เปรตในที่นี้คือ สัตว์นรกจำพวกที่มีแต่ความอยากแต่สนองความอยากตัวเองไม่ได้ ก็เลยมีแต่ความกระเสือกกระสนดิ้นรนไขว่คว้าไม่จบสิ้นเสียที บางคนขายไร่ขายนาเพื่อที่จะมีเงินให้รวย เสร็จแล้วจุดจบก็ต้องมาเป็นคนจนในเมือง แย่ยิ่งกว่าเดิม ส่วนเงินที่เคยมีก็ถูกนายทุนดูดไปเป็นสมบัติของตัวเองเรียบร้อยแล้ว
เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มดิ้นรนพยายามจะ "รวย" ให้เหมือนเขา เมื่อนั้นก็จะกลับทุกข์หนักมากขึ้นเรื่อยๆ จำไว้เลยครับว่า อะไรที่ทำแล้วทุกข์ มันจะไม่นำไปหาความสุขหรอก
ความจนความรวยที่แท้จริงนั้นมันเอามาวัดกันไม่ได้หรอกครับ ไอ้มาตรฐานที่คนกลุ่มน้อยติ๊ต่างขึ้นมาให้สังคมโดยรวมวิ่งตามนี้มันก็เป็นไปเพื่อกระตุ้นการบริโภคเท่านั้น พูดง่ายๆว่ากระตุ้นให้คนซื้อของเขาใช้นั่นแหละ คิดดูก็แล้วกันว่าถ้าเราซื้อของมากๆแล้วใครจะรวย ใครจะจนกันแน่
การโฆษณาและการทำตลาดสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้าง "ความรู้สึก" ให้เกิดความอยากได้สินค้าที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างสุดๆนั้นเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าว่า เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในระยะฟองสบู่ใกล้แตกเต็มที
ผมเคยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ถ้าธุรกิจการค้าเติบโตแล้วมันจะโตไปไหน ในเมื่อคนบนโลกก็มีแค่อยู่แค่นี้ แล้วก็เข้าใจในเวลาต่อมาว่า ผลจากการที่ทุกธุรกิจเร่งขยายตัวเพิ่มยอดขายนี่เอง จึงต้องพึ่งกระบวนการ"สร้าง" ความต้องการของผู้คนบนโลกให้มากขึ้น สร้างปริมาณความต้องการสินค้าในตลาด โดยอาศัยการโฆษณา การทำตลาด และประชาสัมพันธ์ช่วยกระตุ้น สินค้าจึงขายได้เยอะ แต่มันเป็นความเติบโตที่ผิดธรรมชาติ เติบโตเกินความเป็นจริง กลายเป็นฟองสบู่ของ"ความรู้สึกว่าจน" คนทำงานโฆษณาสมัยนี้จึงต้องเชี่ยวชาญด้านกระตุ้นตัณหาของผู้บริโภคครับ ไม่งั้นไม่รุ่ง
ผลจากการผลิตและขายกันอย่างหนักหน่วงก็คือสินค้าล้นโลก ขยะล้นโลก อาชญกรรมมากมาย เบียดเบียนกันก็มาก ความไม่พออยู่ไม่พอกินก็เยอะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ตามมาอีกเพียบ ไอ้พวกทำ CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมน่ะเหรอ เขาก็แค่อยากให้ผู้คนในสังคมเห็นภาพว่าเขาเป็นคนรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงกระบวนการอุตสาหกรรมทั้งหมด มันคือการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรงในตัวมันเอง
ทุกวันนี้เราจึงมีชีวิตอยู่กับความรู้สึก"อยาก"ที่พองตัวเกินจริงอันเกิดจากการกระตุ้น ทำให้เรารู้สึก"จน"กว่าสภาพความเป็นจริง กลายเป็นฟองสบู่ทางอารมณ์เหมือนกับเศรษฐกิจฟองสบู่ยังไงยังงั้นเลย พอความอยากมันพองตัวมากๆ แถมเราก็ดันไปตั้งเงื่อนไขเอาเองว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นเป็น "สิ่งจำเป็น" (อันนี้นายทุนชอบมากครับ คือเราหาเหตุผลความชอบธรรมให้ตัวเองซื้อเสียเองเลย) ทีนี้ก็ได้แต่วิ่งครับ วิ่งกระเสือกกระสนหาเงิน ใครมีเงินมากอยู่แล้วก็กระเสือกกระสนไปซื้อหาสินค้ามา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่มีใครดีกว่าใครนะครับ เป็นทาสทุนกันทั้งนั้น
และ ณ วันนี้ (พ.ค.56) สัญญาณการแตกตัวของฟองสบู่ทั้งของเศรษฐกิจกับความรู้สึกของผู้คนทั้งหลายเริ่มชัดขึ้นครับ จากที่เราเคยแค่รู้สึกว่าจน มาวันนี้ ผู้คนทั้งหลายก็เริ่มที่จะจนกันจริงๆแล้ว คนจำนวนมากกำลังเคร่งเครียดกับการทำมาหากินและไม่มีจะกินอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ไม่ต้องรอลุ้นหรอกครับว่า ทุนนิยมจะล่มหรือไม่ล่ม บอกได้ว่ามันล่มแน่ๆ เพราะเมื่อระบบทุนสูบความมั่งคั่งจากโลกและคนด้อยโอกาสไปจนถึงจุดหนึ่ง ความละโมบของนายทุนก็จะทำลายตัวเอง การต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลที่เป็นของกลุ่มนายทุนโดยประชาชนคนหมู่มากก็จะเกิดขึ้น เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
ลุงฟูกูโอกะ ผู้คนพบสัจธรรนี้ด้วยตนเอง แถมแก้ปัญหาได้ทุกอย่างที่มีในสังคมปัจจุบันด้วย(แต่ไม่ตอบโจทย์ทุนนะ) |
ถ้าคุณไม่อยากล่มจมไปกับระบบทุนในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ต้องปรับชีวิตให้มันกลับมาอยู่ในระดับที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นไปเพราะการกระตุ้นบริโภคจากสื่อทั้งหลาย ลดๆความดิ้นรนลงมาหน่อย จะได้เห็นภาพจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบปรุงแต่งมากเกินไป รู้จักคำว่าพอ ที่ไม่ใช่แค่พอเพียง แล้วมองหาที่ดินทำการเกษตรเล็กๆสักผืน เตรียมตัวและฝึกฝนในการผลิตอาหารเองในอนาคต
เมื่อใดก็ตามที่เหตุอันทำให้คุณทุกข์ กังวลและสาละวนอยู่กับการหาความสุขความมั่นคงในชีวิตหมดลง เมื่อนั้นคุณจะพบด้วยตัวเองเลยว่า ไอ้สิ่งที่คุณพยายามเสาะแสวงหาด้วยความรู้สึกว่าจนนั่นแหละ คือตัวการก่อทุกข์เสียเองเลย
No comments:
Post a Comment