Thursday, November 6, 2014

การล่าอาณานิคมระดับรากหญ้า

การล่าอาณานิคมไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังเปลี่ยนรูปแบบอย่างเนียนๆเท่านั้นเอง
เคยสังเกตไหมครับว่าทำไมร้านโชว์ห่วย ร้านขายของตึกแถว ค่อยๆหายไป กลายเป็นห้าง กลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ กลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต กลายเป็นแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ตลาดสดกลายเป็นร้านขายอาหารสดภายใต้เงื้อมเงาบริษัทยักษ์ใหญ่ คลีนิกตึกแถวที่เคยมี ค่อยๆหายไปกลายเป็นโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลขนาดเล็กแถมราคาค่ารักษาพยาบาลก็แพงมาก ทำไมเกษตรกรรายเล็กรายน้อยถึงได้หมดตัวเป็นหนี้เป็นสิน ต้องเช่าที่นาหรือเป็นแรงงานราคาถูกรับจ้างนายทุนทำนา ทำไมเกษตรกรจำนวนมากจึงต้องทำปศุสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา ทำไมอาหารที่เรากินเข้าไปจึงผลิตจากบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ทำไมเราทางเลือกในการรักษาสุขภาพของเราจึงน้อยลงเรื่อยๆ


ถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่าการค้าขายรายย่อย หรืออาชีพที่เคยยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองจำนวนมาก ได้ล้มหายไป บ้างก็ปรับตัวขึ้นห้างต้องจ่ายค่าเช่าแพงๆ บ้างก็ซื้อแฟรนไชส์ บ้างก็เลิกกิจการไปเพราะสู้รายใหญ่ไม่ได้ เพราะไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นหรือไปขึ้นกับใคร ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผมเรียกมันว่า การล่าอาณานิคมระดับรากหญ้า เป็นความพยายามของนายทุนที่อยากจะมีส่วนร่วมกับทุกการค้าขายที่เกิดขึ้นผ่านค่าเช่า

บางคนอาจจะเถียงว่ากิจการเหล่านี้สู้เขาไม่ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไปเป็นธรรมดา แต่ถ้าลองมองดูในรายละเอียดกันจริงๆ เราจะพบว่า แม้กระทั่งเราเองก็ถูกต้อนให้ต้องมาเป็นทาสในอาณานิคมการค้าที่กินรวบไปด้วยเช่นกัน

เรื่องการล่าอาณานิคมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ล่องเรือออกล่าอาณานิคม ล่าเมืองขึ้นไปทั่วโลกในอดีตที่ผ่านมา โชคดีที่ประเทศไทยรอดมาได้ ณ เวลานั้น นั่นเป็นการล่าอาณานิคมในระดับมหภาคหรือระดับประเทศ แต่ตอนนี้การล่าอาณานิคมระดับรากหญ้าหรือระดับย่อย กำลังรุนแรงขึ้น จนคนตัวเล็กๆและรายย่อยแทบจะไม่มีที่ยืนแล้ว ถ้าไม่ยอมตัวเป็นทาสเห็นทีจะลำบาก

ไม่เชื่อก็ดูพื้นที่ในเมืองกรุงที่ถูกกว้านซิ้อเพื่อทำห้างสรรพสินค้ากันมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตการค้าเก่าแก่จำนวนมากที่อยู่คู่คนกรุงเทพฯมาอย่างยาวนานก็โดนรุกเพื่อเอาที่ไปทำห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่จนหมด

เดี๋ยวนี้ใครคิดจะทำธุรกิจ ถ้าไม่ซื้อแฟรนไชส์ ขึ้นห้าง เข้าโมเดิร์นเทรด เข้าคอมมูนิตีมอลล์ จับคู่ธุรกิจ หรือทำเกษตรในระบบ contract farming หรือเกษตรพันธสัญญา ก็แทบจะต้องเตรียมตัวเจ๊งได้เลย สิ่งนี้เรียกว่าอำนาจเหนือตลาดที่รายใหญ่ได้ใช้กำลังเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และบิดเบือนตลาดให้เป็นประโยชน์และสร้างความได้เปรียบทุกประตูให้กับธุรกิจตนชนิดไม่ให้รายย่อยได้อยู่รอดเลย
ลัทธิล่าอาณานิคมแบบเดิมล่ามผู้คนด้วยโซ่ตรวน แต่แบบใหม่เขาใช้หนี้มาล่ามเรา ล่ามกันตั้งแต่เรียนด้วยหนี้การศึกษาเลย

แล้วมันได้เปรียบยังไง?

ธุรกิจใหญ่นั้นสามารถใช้สื่อ อำนาจเงิน และอำนาจต่อรองเหนือตลาดในมือ ทำให้สินค้าและบริการเป็นที่ดึงดูดใจกว่าคู่แข่งรายย่อย ผู้ผลิตสินค้าที่อยากได้ยอดขายมากๆก็ต้องยอมให้ส่วนลดและเงื่อนไขการจ่ายเงินสุดโหดแลกกับช่องทางการปล่อยสินค้าที่มีมหาศาล ระบบการค้ายุคใหม่ ดึงดูดทั้งคู่ค้าและผู้บริโภคให้เข้ามาอยู่ใน platform ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวค่าเช่า ส่วนต่างกำไรที่ได้จากการบีบราคาผู้ผลิตและคู่ค้า กับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย แถมยังได้เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ของตน โดยที่ต้นทุนในการบริหาร platform ก็ตกอยู่ที่คู่ค้าและผู้บริโภคต้องรับภาระทั้งหมด ทั้งโดยจำยอมและไม่รู้ตัวก็ตาม เปรียบเสมือนการจับเราเข้าเครื่องคั้นน้ำผลไม้แล้วก็บีบเอาน้ำออกมานั่นแหละ นายทุนเขาก็ได้น้ำผมไม้ไปดื่มทั้งหมด ที่เหลือให้เราก็แค่กากผมไม้นิดหน่อยเท่านั้นเอง

ไม่ต่างจากการที่ประเทศเจริญแล้วทั้งหลายในอดีต ได้ล่าประเทศต่างๆเข้ามาเป็นอาณานิคม แล้วจับคนพื้นเมืองมาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงานฟรีในการขนถ่ายทรัพยากรของประเทศอาณานิคมนั้นๆกลับประเทศโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย ต้นทุนทั้งหมดถูกผลักให้กลายเป็นความรับผิดชอบของคนในประเทศใต้อาณานิคมทั้งหมด

อย่างเวลาเราไปเดินซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าหรูหราทั้งหลาย เราก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าเช่าที่ ค่าจิปาถะอื่นๆที่ถูกรวมอยู่ในราคาสินค้าที่แพงกว่าซื้อข้างนอกมากโดยไม่รู้ตัว เพราะโดยอุปนิสัยผู้คนนั้นชอบความสบาย โดยไม่เข้าใจว่าการวิ่งหาเงินมาซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยนั้นก็เป็นความลำบากอย่างหนึ่ง เรียกว่ากลบเกลื่อนความลำบากด้วยความหรูหราสะดวกสบายเอาไว้จนมิดชิด เมื่อนายทุนออกโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อเรียกให้เรายกระดับตัวเองให้สมฐานะของห้างหรือผลิตภัณฑ์ของเขา ก็ทำให้เราต้องลำบากวิ่งหาเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองสุขสบายเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เพราะเสพติดความคุ้นชินเดิมๆเสียแล้ว โดยไม่เข้าใจว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ของชีวิต ที่ต้องถูกหลอกให้วิ่งตามตัณหาตัวเองไม่รู้จบ

วงจรอุบาทว์ที่ว่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในเมืองนะครับ เกษตรกรก็โดนเหมือนกัน เกษตรกรตัวเล็กๆจะต้องพบเจออำนาจเหนือตลาดอยู่ตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นโรงสี โรงงานแปรรูปอาหาร ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น บริษัทขายปุ๋ยขายยา ฯลฯ ทำให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบนับตั้งแต่การซื้อเมล็ดพันธุ์ การซื้อปุ๋ยซื้อยา การขายผลผลิตที่การกำหนดราคาขึ้นอยู่กับความฉ้อฉลของคนกลางและบริษัทแปรรูปอาหาร ซึ่งวงจรนี้ได้ทำให้เกษตรกรไทยต้องเป็นหนี้ทาสจนสิ้นเนื้อประดาตัวกันมากมาย

ไม่รู้ว่าใครเคยสังเกตความย้อนแย้งของข่าวเศรษฐกิจไหม ที่เรามักจะได้ยินข่าวว่า ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำจนเกษตรกรไม่อยากให้ลูกหลานเป็นเกษตรกรแบบตน ไล่ให้เข้าเมืองทำงาน ในขณะที่อีกข่าวหนึ่งนำเสนอเรื่องนีอาหารที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็วในหน้าข่าวเดียวกัน ตลกไหมครับ
ความแนบเนียนของลัทธิล่าอาณานิคมใหม่นั้นให้เราเป็นทาสด้วยความเต็มใจ แถมบางคนปกป้องระบบด้วยน่ะ
โดยเฉพาะเกษตรพันธสัญญาที่มุ่งต้อนเกษตรกรเข้าคอก เพื่อการควบคุมการผลิต และควบคุมราคา เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ต้องใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ยา เคมี ระบบการผลิต และอาหารสัตว์จากบริษัทคู่สัญญาหมดทุกอย่าง ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้อย่างรัดกุม ทำให้บริษัทคู่สัญญาของเกษตรกรสามารถที่จะกำหนดราคาหรือเพิ่มเงื่อนไขอื่นเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงผลต่างกำไรเมื่อไหร่ก็ได้ (แปลว่าเขาจะทำกำไรจากส่วนนี้เมื่อไหร่และมากเท่าไหร่ก็ได้) ส่วนเกษตรกรก็รับผิดชอบความเสี่ยงที่เหลือกันเอาเอง ถ้าผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ทันเวลา เกษตรกรก็ต้องรับผิดชอบโดยต้นทุนของตัวเอง ซึ่งความเสี่ยงสูงๆจะถูกผลักให้เกษตรกรคู่สัญญาจนหมด บริษัทแทบจะไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย จนที่สุดเกษตรกรจำนวนมากต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวมากมาย

แล้วส่วนต่างจำนวนมากนั้นไปอยู่ที่ไหน?

ส่วนต่างที่ถูกบีบออกมานั้นก็ไปตกอยู่กับนายทุนใหญ่ที่ครอบงำตลาดเอาไว้ทั้งหมด โดยที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้เลย เราจึงได้เห็นผลกำไรของบริษัทอาหารขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขนาดของกำไรมากเป็นแสนๆล้านในทุกปี ขณะที่เกษตรกรจนลง หมดเงินจนต้องขายที่ดินใช้หนี้ แล้วที่ดินทั่วประเทศก็ตกไปอยู่กับนายทุนอีกทีหนึ่ง จะเรียกว่ากินรวบประเทศกันเลยก็ได้

ส่วนผู้บริโภคก็อย่าดีใจไปนะครับ ท่านทั้งหลายก็เป็นทาสเขาด้วยเช่นกัน เมื่อระบบทุนครอบงำทุกอย่างหมดแล้ว เขาก็จะขึ้นราคาทุกอย่างเพื่อสร้างกำไร คุณจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกเลย เพราะทางเลือกอื่นๆถูกทำลายไปหมดแล้ว ขณะที่นายทุนรายเดิมก็จ้างคุณด้วยเงินเท่าเดิม ขึ้นเงินเดือนก็ไม่มากไปกว่าเดิม เพราะตลาดงานก็ถูกครอบงำด้วยนายทุนไม่กี่คนเช่นกัน  เป็นสภาพที่เรียกว่าถูกปิดประตูตีแมว

ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ระบบทุนสร้างขึ้นมาครอบเราไว้ ให้เรารู้สึกสะดวกสบาย ด้วยการถูกลดทอนศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารไปโดยไม่รู้ตัว สร้างเราให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่สามารถจะมองเห็นภาพใหญ่ของกลไกการเอารัดเอาเปรียบได้ถนัด ผ่านระบบการศึกษา สร้างให้เราเป็นปัจเจกเพื่อที่จะได้ไม่รวมตัวลุกฮือกันขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม และเพื่อให้ทำงานหนักในการขับดันระบบเศรษฐกิจและระบบทุนที่มีเจ้าของอยู่ไม่กี่ตระกูล เหตุทั้งหลายเหล่านี้เองที่ทำให้เราถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา จนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ถ่างกว้างขึ้นจนจะทำให้สังคมล่มสลายอยู่แล้ว

4 comments:

  1. ยากที่จะแก้ไข

    ReplyDelete
  2. ได้ความรู้ได้มุมมอง มีประโยชน์มาก
    ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete
  3. ลุกขึ้นด้วยพลังประชาชนสร้างกม.ประชาชน พร้อมไปกับการต้องพึ่งตนเองมากที่สุดแม้ยากแต่ต้องทำ เราจะเปนปลาตามน้ำหรือปลาทวนน้ำเรายังเลือกได้แม้จะน้อย

    ReplyDelete