เมื่อเราละทิ้งรากเหง้าภูมิปัญญาเดิมของบรรพบุรษ เราก็เป็นได้แค่หนูถีบจักรเท่านั้นเอง |
ที่ผ่านมาเราเห็นกระแสทุนนิยมและกระแสของอุตสาหกรรมแทรกซึมเข้าไปในทุกๆวงการ ทุกๆสาขาอาชีพ แล้วก็ทำลายวิถีเก่าๆ ภูมิปัญญาเก่าๆ หรือของเก่าๆที่บรรพบุรุษของเราใช้ในการพึ่งพาตนเองจนสิ้น นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่พาคนจากเรือกสวนไร่นา เข้ามาเป็นคนงานค่าแรงถูกในเมืองและในระบบอุตสาหกรรม มาเป็นชนชั้นกลางที่ต้องอยู่อย่างดิ้นรน และหวาดกลัวว่าจะเสียสถานะทางการเงินและทางสังคมของตน ภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าเดิมของเราก็แทบจะสูญพันธุ์ไป และมีลัทธิบริโภคนิยมพร้อมกับสินค้าดาษๆที่ดูเหมือนกันไปหมดมาแทนที่
ระบบทุนนิยมสร้างเหตุผลอันสวยหรูและบอกกับเราว่า ของใหม่ย่อมดีกว่า สะดวกสบายกว่า มั่งคั่งร่ำรวยกว่า ทันสมัยกว่า ส่วนเราก็เชื่อเพราะไม่รู้ทันคำลวงโลกนั้นที่ถูกฉายผ่านสื่อต่างๆตลอดเวลา ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราได้ยินคำว่านวัตกรรมใหม่ที่ดีกว่า นั่นก็มักจะหมายความว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมได้ถูกแซะออกไปจากอารยธรรมมนุษย์อีกหนึ่งอย่าง แล้วเขาก็จะเอานวัตกรรมที่เขาจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์แล้วนี่แหละมาขายเพื่อหากินกับเราตลอดชีวิต ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น เราไม่เคยจะต้องเสียเงินให้กับสิ่งที่ภูมิปัญญาของเราทำได้เลยแม้แต่นิดเดียว
นับจากที่ระบบทุนนิยมต้อนเราเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก มนุษย์เราก็เสื่อมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองลงไปเรื่อยๆ จนที่สุดเราก็พึ่งพาตนเองแทบจะไม่ได้เลย ต้องพึ่งระบบทุกอย่าง มีของอะไรเสียในบ้านก็โทรเรียกช่าง หรือไม่ก็โยนทิ้งซื้อใหม่ จะกินอาหารก็เดินออกไปซื้อร้านสะดวกซื้อที่หน้าปากซอยบ้านได้ตลอดเวลา หรือไม่ก็โทรสั่งให้เข้ามาส่งถึงที่บ้าน ขนาดจะกินไข่ต้ม ร้านสะดวกซื้อก็ยังมีขายเลยครับ ต้มกันไม่เป็นแล้ว แต่เขาก็ขายในราคาที่ไม่ค่อยจะสะดวกใจซื้อสักเท่าไหร่ เหมาะกับคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้มากกว่า
หลายคนถึงขนาดว่าระบบต่างๆเดี้ยงไปชั่วคราว ตัวเองก็เหมือนกับจะเดี้ยงไปด้วยก็มี ยิ่งคนเมืองนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เมื่อไหร่ที่ไม่มีไฟฟ้าจากระบบ น้ำประปาไม่ไหล รับรองว่าคนเมืองนี่ตายสถานเดียว ชีวิตของคนในระบบทุนนิยมจึงให้เวลากับการแสวงหาความมั่นคงที่ไม่มีจริงเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าระบบทุนจะดำเนินไปได้ก็ต้องหล่อเลี้ยงความกลัวนี้ไว้ เพราะถ้าคนที่เป็นแรงงานในระบบหยุดกลัว หยุดดิ้นรนแล้ว เข้าใจความจริงของกลไกระบบแล้ว ระบบทุนนิยมก็จะค่อยๆล่มสลายลงในที่สุด
การทำให้เราอยากและรู้สึกจนอยู่เสมอ คืออุบายในการขับเคลื่อนทุนนิยม |
ที่ระบบทุนนิยมต้องทำลายรากเหง้าของสังคมกันขนาดนี้ก็เพราะว่า ระบบทุนนิยมต้องหาใช้ผู้คนที่เป็นแรงงาน ต้อนให้มาเป็นแรงงานราคาถูฏเพื่อทำงานขับเคลื่อนระบบ เป็นแรงงานราคาถูกสำหรับผลิตอาหารราคาถูก เพื่อจะได้แสวงหากำไรส่วนต่างจากผู้บริโภคซึ่งก็คือแรงงานเอง สร้างแรงงานให้เป็นผู้บริโภคในทุกๆเรื่อง บริโภคในสิ่งที่ตนผลิต แล้วส่วนต่างความมั่งคั่งก็ตกเป็นของนายทุนไป
เมื่อระบบทุนสร้างแรงงานที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านการผลิตปัจจัยสี่ได้ ทำเป็นแต่การหาเงินอย่างเดียว ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาเงินหาทองมาจุนเจือตัวเองและครอบครัว ระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ และระบบการค้าที่ซับซ้อนมากๆ ได้กีดกันคนส่วนใหญ่ของโลกออกไปเป็นแค่แรงงานราคาถูก และพร้อมจะถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้ตลอดเวลาด้วยกลไกราคาและค่าแรง ซึ่งสามารถรีดเอาความมั่งคั่งออกจากประชากรโลกส่วนใหญ่ได้อย่างง่ายดาย เหมือนฟาร์มปศุสัตว์ยังไงยังงั้น
ดูดีนะครับสำหรับทาสน่ะนะ |
ในหนังสือที่ชื่อว่า The Invention of Capitalism กล่าวเอาไว้ถึงขนาดที่ว่า ความยากจน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุน เพราะต้องมีคนจนเอาไว้เป็นฐานอ้างอิงความร่ำรวย และเอาไว้เป็นเยี่ยงอย่างที่จะทำให้คนในระบบกลัว จะได้ออกแรงทำงานและบริโภคเพื่อขับเคลื่อนระบบให้ดำเนินไปได้ ซึ่งก็คือผลประโยชน์ของคนไม่กีคนบนโลกใบนี้เท่านั้น
การที่รัฐบาลในระบบทุนนิยมขายฝันว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน จึงเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะมันแก้ไม่ได้ ระบบทุนนั้นถูกออกแบบมาให้ควบคุมการไหลของเงินตราและความมั่งคั่งผ่านกลไกราคาและค่าแรงอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆว่าเขาจะบีบเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วอย่างนี้รัฐบาลจะแก้ไขความยากจนได้ยังไง
เมื่อก่อนสมัยที่บรรพบุรุษของเรายังมีที่ดินทำกิน มีที่เพาะปลูก เพื่อเลี้ยงตัวเอง ทรัพย์สินเช่นที่ดิน ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ภูมิปัญญาทั้งหลายก็ซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ได้เพราะ ทุกบ้านล้วนแต่มีเอาไว้พึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด ไม่สามารถผูกขาดได้ พอระบบทุนนิยมนำเสนอสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมากๆ ชาวบ้านที่รู้ไม่ทันระบบก็หลงระเริงไปกับสิ่งใหม่ๆที่ดูเหมือนจะสะดวกกว่า แล้วพากันลืมภูมิปัญญาที่ทำให้สามารถพี่งพาตนเองได้ไปอย่างช้าๆ
สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนหาเงินมากขึ้นเพื่อมาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ชาวบ้านไม่เคยต้องการมันมาก่อน ซึ่งเป็นผลจากกลไกการสร้างอุปทานลวง แล้วก็เอาระบบเงินตราเข้ามาตีค่าทุกอย่างเป็นตัวเงิน ชาวบ้านเลยนึกเอาเองว่าสบายแล้วเรารวยแล้ว ซึ่งชาวบ้านชาวช่องเองก็ไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนของระบบเงินดีพอ จนสิ่งนี้ได้กลายเป็นช่องว่างที่นายทุนเข้ามาเอาเปรียบทุกคนถึงในบ้านอย่างถูกกฏหมาย ซึ่งในที่สุด ชาวบ้านชาวช่องที่หลงดีใจกับสิ่งดีๆทั้งหลายในครั้งแรกก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะถูกล่ามด้วยหนี้ทาส ต้องเสียที่ดินทำกิน ต้องเสียบ้านช่อง ครอบครัวแตกสลาย ต้องเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานราคาถูกไร้อนาคตในเมือง ทำงานหนักแทบตายแต่ไม่พอกิน ขณะที่นายทุนส่วนใหญ่มีกินชนิดกินไปหลายชาติก็ไม่หมด
ชีวิตของแรงงานในระบบส่วนใหญ่จึงเคว้งคว้าง อึดอัดกดดัน บ้าคลั่ง และหวาดระแวง ไร้อนาคตอย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่เราพูดไม่ได้เลื่อนลอยนะครับ เพียงแต่มาถึงไทยช้าไปหน่อยเท่านั้นเอง |
เรื่องแบบนี้ถ้าพูดกันเมื่อ 8 ปีก่อน คนก็จะหาว่าบ้า แต่มาถึง ณ ตอนนี้ (ต้นปี 58) ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกำลังก่อปัญหารุนแรงขึ้นทั่วโลก รัฐบาลของประเทศต่างๆถูกควบคุมโดยนายทุนเพื่อความมั่งคั่งของระบบทุน(ไม่เชื่อก็ดูเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมในไทยก็ได้ครับ ชัดเจนมาก) การพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่เราอาจจะต้องเป็นทาสระบบทุนไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน หรือเราจะปลดแอกระบบทาสด้วยการหันกับไปหาภูมิปัญญาที่ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ถูกนายทุนบีบคั้นเอาอีก
ความล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์กำลังใกล้เข้ามาดังเช่นที่นักวิชาการหลายสำนักพูดถึงกันในช่วงที่ผ่านๆมา ซึ่งแนวโน้มนี้ชัดเจนมาก หากเปิดตาเปิดใจดูสถานการณ์ความเป็นจริง ที่ไม่ได้เป็นแค่ข่าวหรือข้อมูลที่บิดเบือน (ซึ่งถูกนำมาเป่าหูเราผ่านสื่อกระแสหลัก) หากเราไม่ขยับเพื่อกลับคืนสู่รากเหง้าเดิมเสียแต่วันนี้ เราก็อาจจะล่มสลายไปกับระบบที่กำลังกัดกินตัวมันเองอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้ครับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
ReplyDeleteหากเราไม่รู้ทันทุนนิยม ไม่ต่อต้าน ไม่หาทางแก้ไข ลูกหลานเราคงเป็นทาสนายทุนตลอดไปค่ะ