ถ้าน้ำท่วมขนาดนี้คุุณพึ่งตัวเองได้ขนาดไหน? |
นิยามของการพึ่งตนเองนั้น
หากเป็นสภาวการณ์ปกติ มันก็อาจจะหมายถึง การทำมาหากินด้วยตนเอง
มีเงินจับจ่ายใช้สอย
ในขณะที่ระบบทุนดำเนินไปตามปกติ
ทุกคนก็จะเก่งหรือเจ๋งในแบบของตน แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤตจริงๆ
วิกฤตจนกระทั่งเงินก็ไม่มีความหมาย ข้าวของแพงจนไม่สามารถจับจ่ายได้ตามปกติ
ถึงตอนนั้น ความสามารถในการพึ่งพาตนเองก็จะลดลงจนเราจะได้เห็นว่า
การพึ่งตนเองในความหมายที่เราเข้าใจกันตามปกตินั้นมันไม่ใช่เสียแล้ว
ไอ้ที่เจ๋งก็จะกลายเป็นจ๋อยไป
และจะได้เข้าใจว่าจริงๆเราไม่ได้พึ่งตนเองอย่างแท้จริงหรอก
เราเอาแต่พึ่งพาระบบต่างหาก พอระบบมีปัญหาขึ้นมา เราถึงได้มีปัญหาตามระบบไปด้วย
ดังนั้นการพึ่งพาตนเองที่แท้จริงนั้น
ไม่ใช่การไปพึ่งพาอยู่กับระบบ
อย่างน้อยก็ไม่ควรเอาปัจจัยพื้นฐานของชีวิตไปฝากเอาไว้กับระบบ
ซึ่งตกอยู่ในมือของนายทุนไม่กี่ตระกูล เสร็จแล้วเราก็โดนบีบคั้นกดดัน
แล้วผลมันก็เป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน มันกลายเป็นสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็น การที่คนงานถูกเลิกจ้าง ผลผลิตถูกกดราคา พนักงานถูกลดเงินเดือน
ถูกบีบให้ออก ฯลฯ
การที่อาศัยอยู่ในระบบทุน
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเอาปัจจัยทุกอย่างมาเข้ามาอิงอาศัยกับระบบทุนทั้งหมด
อย่างนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะปัจจัยสี่ ปากท้องของเรา
หากไปอิงอาศัยระบบหมดแล้ว พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา
ก็เป็นเรานั่นเองที่ต้องทุกข์ อย่าลืมนะครับว่าในระบบทุนนั้น ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก
และเกมก็ไม่ได้เป็นของคนตัวเล็กๆอย่างเราเสียด้วย
กระแสเศรษฐกิจทั้งหมดขึ้นอยู่ในมือนายทุนและนักการเมืองใหญ่ๆไม่กี่คน
ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายเราได้เสมอ
ความเสื่อมสมรรถภาพในการพึ่งพาตนเองนั้นเริ่มต้นจากแนวคิดของระบบทุนที่
"แบ่งแยก" ทุกอย่างออกจากกัน
จากนั้นก็ผู้มีความชำนาญเฉพาะด้านขึ้นมาสำหรับรับผิดชอบในแต่ละงาน
แนวคิดนี้ได้ฝังรากลึกลงในระบบการศึกษาที่ให้เราเรียนแยกเป็นวิชา
ทำให้เด็กนักเรียนไม่มีทักษะในการเเชื่อมโยงองค์ความรู้ทั้งหมดให้เห็นเป็นภาพรวม
ขาดบูรณาการแห่งชีวิต
ไม่สามารถมองเห็นและเข้าใจโลกและการขับเคลื่อนเป็นไปของโลกทุกแง่มุมในองค์รวม
ทำให้เด็กขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ จับประเด็นในองค์รวม ผลก็คือ
คนที่จบการศึกษาออกมากลายเป็นเด็กที่รู้เฉพาะด้าน ฉลาดเฉพาะอย่าง
แต่ไม่รู้จักชีวิต ขาดทักษะชีวิต
อย่างผมเองจบปริญญาตรีออกมาก็เหมือนเด็กโง่ๆคนหนึ่งที่คิดได้แค่เฉพาะในสิ่งที่รู้
คิดได้แค่เท่าที่รู้ จนได้มาค้นพบว่าการทำงานเพียงแค่ปีเดียว
เราได้เรียนรู้มากกว่าที่เรียนในโรงเรียนตลอดสิบกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาเสียอีก
เรียนจบมาแล้ว ไอ้ที่ใช้ได้จริงๆก็แค่อ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารเป็น
พูดรู้เรื่องและเข้าใจ ส่วนที่เหลือคืนอาจารย์หมด
ไอ้ท่องจำมาทั้งหมดก็ล้วนแต่ลืมไปจนหมดสิ้น
นี่คือความตลกร้ายของระบบการศึกษาที่ตลกกันไม่ออกครับ
พอจบมา
การแบ่งแยกงานทุกอย่างก็เป็นไปตามระบบทุน คนๆหนึ่งต้องทำงานที่ตนชำนาญซ้ำๆ
ทำงานอย่างหนัก ชีวิตขาดการบูรณาการในภาพรวม ก่อให้เกิดปัญหาชีวิตมากมาย
เพราะเก่งแต่เรื่องงาน อย่างอื่นไม่ได้เรื่องเลย บางคนทำอาหารไม่เป็น
บางคนก็แย่เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
บางคนทำงานเก่งก็เกิดเป็นอัตตาอวดเบ่งขึ้นมาอีก แม้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จริง
แต่พอมาลงภาพรวมแล้วกลับกลายเป็นแย่ไปก็มีมากมาย
ทุกวันนี้เราจึงเห็นปัญหาการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกกันเยอะมาก
เพราะทุกคนมุ่งแต่จะเอาๆ พยายามจะเก่งในทุกเรื่อง เอามุมมองและความชำนาญเฉพาะด้านอย่างแคบๆที่ตนเคยผ่านมาไปใช้กับทุกเรื่อง
มองทุกอย่างเป็นการแข่งขัน วัดประสิทธิภาพ
ประสิทธิผลในทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องครอบครัวหรือชีวิต
มันจึงมีแต่ความตึงเครียดและแตกแยก
ความเป็นจริงแล้วเราควรจะพึ่งตนเองได้ทุกเรื่องหรือเกือบทุกเรื่องครับ
แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งดีเลิศในทุกเรื่องที่เราทำ
เพราะความเก่งกาจในวิชาชีพนั้นก็มีที่มาจากการฝึกฝนเฉพาะด้านอย่างหนักนั่นแหละ
ถ้าเราเอาตัวเองไปวัดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มันก็จะท้อทุกที ไม่ได้เริ่มพึ่งพาตนเองสักที
ทั้งๆที่ทักษะหลายๆอย่างมันพัฒนากันได้โดยทำมันบ่อยๆก็จะจับทางได้เองครับ
แต่อย่าไปหวังให้มันดีในครั้งแรก ไม่อย่างนั้นเราก็จะติดกับดักของตัวเอง
ไม่กล้าที่จะพึ่งตัวเองสักที
และความอ่อนแอในการพึ่งพาตนเองที่เกิดขึ้น
ทำให้ผู้คนหันไปเรียกร้องหาความอุ่นใจจากผู้ขายสินค้าบ้าง ผู้ให้บริการต่างๆบ้าง
สะท้อนออกจากผ่านวลีที่ว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า" ซึ่งหลายครั้ง
ความที่ต้องการสนองความมีอำนาจซื้อของตน(หลังจากถูกกดขี่มามากในที่ทำงาน)ก็เลยเรียกร้องเอาจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการจนกลายเป็นปีศาจแทนที่จะเป็นพระเจ้าไปเลยก็มี
พอเรียกร้องผู้ผลิตและผู้ให้บริการในสินค้าทั้งหลายให้เอาใจมากๆ
งานนี้จึงเข้าทางนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่พากันออกมาทำสื่อปฏิโลมอารมณ์
กล่อมอารมณ์ "ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย" จนยอมควักเงินซื้อสินค้า
ทั้งๆที่สินค้าส่วนใหญ่ที่เราซื้อก็ไม่ได้จำเป็นจริงๆ
แต่เป็นอุปสงค์ลวงที่ถูกนักโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทั้งหลายออกอุบายสร้างขึ้นมา
ซึ่งถ้าจะมาดูกันจริงๆแบบปราศจากมายาของอุปสงค์ลวง
ขนาดของเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ก็คือฟองสบู่ดีๆนี่เองครับ
อุปสงค์ที่แท้จริงแบบที่ไม่อิงกิเลสนั้นมีน้อยนิดเดียว
ที่มันโตได้ทุกวันนี้ก็เพราะถูกปั่นให้อยากกันเกินตัวทั้งนั้น
และเมื่อผู้คนทั้งหลายเสื่อมสมรรถภาพในการพึ่งตนเองอย่างถาวรชนิดที่นึกไม่ออกว่าถ้าไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตจะอยู่ได้ยังไง
เมื่อนั้นผู้ผลิตสินค้าและบริการ นักโฆษณาและประชาสัมพันธ์ก็จะเดินหน้าหลอกล่อ
สร้างอุปสงค์ลวงขึ้นแก่ผู้คนเพื่อดูดเงินออกจากกระเป๋าอย่างเมามัน
จนเส้นแบ่งทางศีลธรรมและจริยธรรมถูกละเมิดจนหมดสิ้น
และเมื่อเราตกเป็นลูกไก่ในกำมือเขาแล้ว ทีนี้เขาจะทำอะไรก็ได้
ลดขนาดสินค้าคงราคาเดิม ลดสเปคสินค้า ขึ้นราคาในวันที่วัตถุดิบปรับขึ้นราคา
แต่ไม่ลดราคาลงเมื่อวัตถุดิบปรับราคาลง หรือแม้กระทั่งผลักภาระค่าจ้างแรงงานลงในต้นทุนสินค้า
ฯลฯ
สิ่งต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับคนชั้นกลางที่สามารถหารายได้มากกว่าปัจจัยที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน
แต่คนชั้นกลางระดับบนก็มีความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
เป็นความทุกข์ซึ่งก็เกิดจากการกระตุ้นกิเลสตัณหาโดยกระบวนการสร้างอุปสงค์ลวงเช่นกัน
พูดง่ายๆคือถูกหลอกให้ตะเกียกตะกายไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ
ทั้งๆที่ตนก็สามารถหาเงินตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานได้เพียงพออยู่แล้ว
ผู้คนทุกวันนี้ก็เลยอยู่กันอย่างระแวงและทำเหมือนว่าวิ่งหนีอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา
ในวันที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติของมัน
คงไม่มีใครสนใจเรื่องนี้แน่ๆ บางคนอาจจะคิดว่าบ้าเอาด้วยซ้ำไป
ถ้าคิดจะพึ่งพาตนเองขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรหรอกครับที่จะคิดกันแบบนี้
เอาไว้ให้ถึงวันวิกฤตจริงๆขึ้นมาก่อน เดี๋ยวคุณก็จะรู้เองครับว่า
สามารถพึ่งตัวเองได้จริงไหม
No comments:
Post a Comment