โครงสร้างของระบบทุนนิยมนั้นถูกผูกรัด
เรียงร้อยเข้าด้วยกัน อย่างแน่นเหนียวในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน
เพียงแต่คนในระดับบนเขาจะไม่ค่อยกระทบกระเทือนเพราะมีเงินทุนรองรับเอาไว้มาก
พอมีเงินมากก็มีอำนาจมาก ซึ่งระบบกฏหมายตั้งแต่ตัวบทกฏหมายเองจนถึงขั้นตอนการบังคับใช้กฏหมายมีขึ้นก็เพื่อเอื้ออำนวยชนชั้นสูงทั้งนั้น
เราจึงเห็นว่าการต่อสู้ทางกฏหมายส่วนใหญ่คนระดับล่างมักจะแพ้
หรือถูกเตะถ่วงยืดเยื้อยาวนาน
คนระดับล่างรองๆลงมาก็จะกระทบกระเทือนมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแม้เพียงน้อยนิด
ระบบทุนนิยมจึงมีระบบที่จะมาผูกมัดผู้คนเข้าด้วยกัน ในรูปแบบบริษัท
ในรูปแบบของการเป็นหนี้ ในรูปแบบองค์กร ในรูปแบบของภาระความรับผิดชอบ ฯลฯ
เมื่อทุกอย่างถือเป็นทุน
มันก็จะต้องแปลงค่าโดยอ้างอิงจากมูลค่าในตลาด ในรูปแบบหน่วยของเงินตรา
ถ้ามีความต้องการมากก็แพง ถ้ามีความต้องการน้อยก็ถูก
ลองพิจารณาครับว่าอาหารหนึ่งจานราคา
30 บาท เราต้องแบกต้นทุนอะไรบ้าง
ผมไล่คร่าวๆนะครับ ชาวนา เจ้าของฟาร์มสัตว์ คนขับรถบรรทุก ชาวสวนผัก ชาวสวนปาล์ม
พ่อค้าคนกลาง โรงฆ๋าสัตว์ โรงสีข้าว บริษัทจัดจำหน่าย บริษัทบรรจุถุง ยี่ปั๊ว
ร้านค้า พ่อครัว แม่ครัว บริกร เจ้าของร้านอาหาร ฯลฯ
เห็นอะไรไหมครับ
แค่ข้าวหนึ่งจานเราแบกต้นทุนมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในอาหารนั้น
ดีไม่มีเราก็อาจจะมีส่วนในต้นทุนนั้นเองแบบที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ช่วงนี้(พ.ค.55) เราได้เห็นการขึ้นราคาของสินค้าอุปโภค บริโภค ตลอดจนถึงไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม
น้ำมัน ค่ารถโดยสาร ฯลฯ ที่ขึ้นเอาๆ ทำเอาคนจนกระอักแล้วกระอักอีก ไม่จบสิ้น
สาเหตุก็เพราะอย่างอธิบายมาแล้วนั่นแหละ คือ
ทุกอย่างในระบบทุนนิยมนั้นได้รวมเอาต้นทุนมากมาย และต้นทุนในนั้นมัน "ลอยตัว"
ตามปัจจัยต่างๆจำนวนมาก ดังนั้นได้สิ่งที่เรากินเข้าไป ดื่มเข้าไป ใช้เข้าไปมันจึง
"ลอยตัว" ตามปัจจัยนั้นๆไปด้วย
ซึ่งถ้าค่าแรงของคุณไม่ลอยขึ้นตามปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป(มีแต่จะสูงขึ้น)
คุณก็จะถูกบีบคั้นจากของที่แพงขึ้น ไม่เว้นแม้เกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นไปที่การขายผลผลิตเพื่อเงิน
ก็จะต้องซื้ออาหารแพงขึ้นด้วยทั้งๆที่ตัวเองก็มีความสามารถผลิตอาหารได้เองอยู่แล้ว
และด้วยเหตุนี้เองจึงพูดได้เต็มปากว่า
ชีวิตของคนในระบบทุนนิยมส่วนใหญ่นั้นจะหาความมั่นคงไม่ได้เลย
หยุดก็หยุดไม่ได้แม้ตัวเองจะทรมานกับการดิ้นรนที่จะไต่เต้าให้ขึ้นสู่ที่สูง
จะถอยก็ถอยไม่ได้เพราะไม่เห็นทางเลือกอื่นเพราะมันก็ถูกทุนนิยมครอบงำกันทั้งโลก
ซึ่งวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมนั้นส่วนใหญ่มาจาก
"คนกลาง" ครับ คนกลางเป็นผู้ถ่างผลกำไรที่ตนจะได้ออกให้กว้างขึ้น
โดยมารีดเอาจากผู้บริโภค และกดขี่ผู้ผลิตต้นทาง
ทำทุกทางที่จะให้ตนได้กำไรมากที่สุด ทำได้แม้กระทั่ง เปลี่ยนแปลงส่วนผสมของสินค้าบริโภค
แทนที่ส่วนผสมธรรมชาติด้วยสารเคมีให้มันถูกลง
ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในผู้บริโภคมากขึ้น เพราะคนที่เป็นตัวกลางนั้นสามารถ
"ซ่อน" ปัจจัยอะไรหลายๆอย่างไว้ได้โดยไม่มีใครจับได้ไล่ทันครับ
กว่าจะรู้ตัวกัน เขาก็โกยกันไปจนรวยไม่รู้จะรวยยังไง แต่คนที่ซวยก็ผู้บริโภคปลายทางกับผู้ผลิตต้นทางครับ
ทุกวันนี้จึงเริ่มเกิดปรากฏการณ์การรวมกลุ่มเพื่อที่จะเกื้อกูลผู้ผลิตต้นทางขึ้น
โดย "Bypass" หรือกระบวนการซื้อขายโดยตรงจากผู้บริโภคปลายทางไปสู่ผู้ผลิตต้นทางโดยตัดตอนพ่อค้าคนกลางทิ้ง
เพื่อให้ผู้ผลิตต้นทางได้ประโยชน์เต็มๆ
และผู้บริโภคปลายทางก็ไม่ต้องบริโภคของแพงหรือของปลอมปนที่เกิดจากเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าคนกลางในการลดต้นทุน
เพิ่มกำไรอย่างไร้จริยธรรม
และด้วยเราแบกต้นทุนทุกอย่างเอาไว้กับตัว
แถมต้นทุนที่ว่านั้นดันไปอยู่ในมือคนกลางที่มีทั้งอำนาจและเงิน
ซึ่งจะบีบเราเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่กลไกภาครัฐไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
คนในระบบทุนนิยมจึงกลายเป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุด เพราะพึ่งตัวเองไม่ได้เลย
ต้องคอยพึ่งคนอื่นเอาสินค้ามาเสนอให้เท่านั้น
ทุกวันนี้เราจึงมีผลไม้ไม่กี่อย่างให้เราเลือกกิน
มีผักไม่กี่ชนิดให้เราได้เลือกซื้อ
ทั้งๆที่เมื่อก่อนเรามีความหลากหลายทางด้านอาหารและมีคุณภาพมากกว่าปัจจุบัน
แต่เพียงเพราะว่าความหลากหลายนั้นเป็นต้นทุนที่ทำให้พ่อค้าคนกลางกำไรน้อยลง
ผู้บริโภคจึงได้แต่กินและใช้ในสิ่งที่พ่อค้าคนกลางเห็นแล้วว่าจะทำกำไรให้ตนได้มากที่สุด
และทำงานได้ง่ายที่สุด
ซึ่งการพึ่งตัวเองนั้นก็เป็นหนึ่งในหลักสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนั้นก็ยังมีหลักว่าให้บริโภคสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นก่อน
จะได้พึ่งคนกลางให้น้อยลง
ราวกับพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นระบบที่ชั่วร้ายของคนกลางยังไงยังงั้นเลย
ถึงตรงนี้หลายคนคงจะเกิดคำถามว่า
แล้วเราจะแก้ปัญหาได้ยังไง?
ผมตอบได้เลยว่า
ไม่ต้องไปพยายามแก้ที่ระบบหรอกครับ เพราะปัญหามันก็เกิดจากตรงนั้นนั่นแหละ
และเราไม่สามารถไปแก้ไขปัญหาได้จริง เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ
เราทำได้เพียงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากภาคประชาชนเองโดยไม่ต้องไปสนใจภาครัฐมากนัก
ใครมีที่ดินก็กลับไปทำกินบนที่ตนเอง หรือใครไม่มีที่ดินก็ลองมองหาได้แล้วครับ
ทุกวันนี้มีองค์ความรู้เกษตรกรรมธรรมชาติมากมายที่จะทำให้เราพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงแล้ว
ภาพลักษณ์ที่ลำบากตรากตรำของเกษตรกรถูกลบล้างหมดสิ้นไปแล้วด้วยองค์ความรู้เหล่านี้
เรามีหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นคำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ใส่ใจที่จะศึกษาเอง
ทั้งๆที่เป็นทางรอดเดียวที่เราเหลืออยู่ด้วยซ้ำ
ส่วนใครที่จะอยู่ในระบบต่อไปก็ขอให้รวมตัวกันเพื่อตัดตอนพ่อค้าคนกลางเสีย
ต่อตรงเพื่อให้ผู้ผลิตต้นทางสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่บีบคั้นจนเกินไป
ไม่อย่างนั้นอีกหน่อยเราอาจจะต้องกินของแพงๆแต่คุณภาพย่ำแย่ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้
No comments:
Post a Comment