Tuesday, May 22, 2012

พอ หลักธรรมแห่งความสงบสุข


หัวข้อนี้ผมขอแสดงความแตกต่างระหว่างคำว่า "พอ" และ "พอเพียง" สักนิดหนึ่ง เพราะหลายคนรู้สึกสับสนกับความหมายของสองคำนี้เหลือเกิน

พอ นั้น หมายความตรงๆก็คือ พอ ครับ พอแล้วมันก็หยุดอยาก ไม่อะไรต่อ ไม่ต่อตัณหา ไม่งั้นก็จะกลายเป็นความไม่พอไปทันที แต่พอในที่นี้หากเอามาตีความว่า "พอกับความอยากของตน" มันก็จะไม่เคยพอครับ เพราะตัณหาความอยากมันไม่เคยพออยู่แล้ว ดังนั้น คำว่า "พอ"เนี่ย มันมีนัยว่าหมดอยากไปด้วยทันที

แต่ คำว่า "พอเพียง" นี้มันก็หมายความว่าให้มีพอเพียงแก่ตนเองในเบื้องต้น ส่วนใจจะพอหรือยังอยากอยู่อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกันครับ พอเพียงกับตัวแต่ก็ยังอยากจะรวยก็ได้

ซึ่งตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเนี่ย จะใช้ความหมายอย่างหลังเป็นบรรทัดฐานครับ เพราะทำเพื่ออยู่เพื่อกินก่อน เมื่อพื้นฐานแข็งแกร่งแล้วพึ่งตนเองทางด้านปัจจัยสี่ได้แล้ว ที่เหลือก็ค่อยๆเติบโตบนฐานที่แข็งแรงนั้นนั่นเอง

ส่วนผู้ที่มาสนใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีสองแบบครับ คือ อยากหรือโลภจนหัวทิ่ม ล้มละลาย หรือเจ๊งกะบ๊งมาแล้ว สถานการณ์ก็เลยบังคับให้ต้องเริ่มพอเพียง ซึ่งในกรณี้นี้ตัณหาความอยากมันสะดุดหัวทิ่ม แต่ก็ยังคุกรุ่นอยู่ รอเวลาของกรูมาถึง 555 แบบนี้มีเยอะครับ บางคนพอเจ๊งก็ได้แต่งงทำอะไรไม่ถูก บางคนก็หาทางออกได้ด้วยเกษตรธรรมชาติ หรือ กลับไปเริ่มทำให้พอเพียงกับตัวเองก่อนแล้วค่อยขยายตัวเติบโตอีกครั้งหนึ่ง

อีกแบบหนึ่งซึ่งหาได้น้อยครับคือ เป็นพวกที่พอมาแล้ว หรือพออยู่แล้ว ไม่ต้องการอะไรมาก จึงมองหารูปแบบแนวทางที่ตัดความยุ่งยากซับซ้อนในการเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมออกไป เพื่อสามารถยืนบนขาตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งโลกภายนอกมากนัก แบบนี้ก็จะมีกลุ่มศาสนาบางกลุ่มที่เน้นไปที่การพึ่งตัวเอง

ส่วนตัวผมเองนั้นออกจะมาทางอย่างหลัง คือ พออยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในระบบทุนนิยมหรือไม่อยู่ในระบบก็ตาม แต่การที่ผมสนใจไปทำการเกษตรแบบธรรมชาติก็เพราะมันเป็นรูปแบบของการพึ่งตนเองที่ค่อนข้างสมบูรณ์และนำความสมดุลของจิตใจและร่างกายมาให้เรามากกว่าระบบทุนนิยม เหมาะสำหรับชีวิตมนุษย์มากกว่า ซึ่งต้องยอมรับครับว่าระบบทุนนิยมนั้น ไม่เหมาะกับมนุษย์เลย เพราะทุกวันนี้คนในระบบทุนมันมีแต่เปรต อสุรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน หรือเรียกรวมๆว่าอบายภูมิก็คงจะได้ พูดกันง่ายๆคือ ใครจะอยู่ในระบบทุนนิยมก็ต้อง อย่า-หยุด-อยาก  ใครอยากมากก็รวยมาก ใครอยากน้อยก็จน หรือใครอยากมากๆแต่สู้เขาไม่ได้ก็ต้องจนแบบคับแค้น หรือไม่ก็ต้องไปก่ออาชญกรรมเพื่อสนองอยากของตน เป็นแนวเดรัจฉานที่มุ่งแต่เบียดเบียนกันไปอีก...ถึงตรงนี้ก็ถามครับว่า แล้วมันน่าอยู่ไหมเล่า?

ผมไม่แน่ใจว่าลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์หรืออาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือใครก็ไม่รู้ล่ะ เคยพูดเอาไว้ว่า ในหลวงท่านให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมานิดเดียว หรือพูดง่ายๆว่า พระองค่ท่านเป็นคนเขียนหลักการหน้าแรก ส่วนที่เหลือแล้วแต่ใครจะเข้าใจหรือตีความเอาเอง ทุกวันนี้เราจึงมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหลายแนวทางที่ต่างก็ตีความกันไปคนละอย่าง

โดยทัศนะของผมเองนั้น ก็มีแนวทางอยู่ที่ว่าให้คนที่ดำเนินหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น รู้จักพอ พอก็คือไม่ไหลตามตัณหาความอยากของตนเอง อันจะเป็นเหตุสร้างทุกข์ขึ้นมาอีก ซึ่งข้อนี้เป็นธรรมที่สำคัญที่จะนำความสงบสุขมาให้อย่างแท้จริง เพราะถ้าความอยากยังกำเริบอยู่เรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นจุดอ่อนในระยะยาว มันจะขาดภูมิคุ้มกันที่แท้จริง คือถ้าเราทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ดีๆ วันหนึ่งร่ำรวยขึ้นมา จนหลงไปว่าตัวเองเจ๋ง แล้วไหลตามตัณหาเดิมๆ สุดท้ายมันก็จะเข้าไปสู่วังวนเดิมๆอีก แบบนี้สันติสุขในชีวิตก็เป็นพียงภาพฝันชั่วคราวไม่ต่างจากที่ระบบทุนนิยมเขาสร้างภาพมาหลอกเรา ดังนั้นเราพอกันดีกว่าครับ เพราะยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ สนองกันไปก็ไม่จบ

สังคมโดยรวมจะสงบสุขได้ไม่ใช่ที่มีคนดีเยอะนะครับ เพราะคนดีที่มีตัณหามันจะพาลทำเรื่องยุ่งๆขึ้นมาอีก แต่สังคมจะสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคมรู้จักพอ ตัณหาก็ให้มันน้อยๆหน่อย หรือเอาง่ายๆคือหมดตัณหานั่นแหละครับ ความสงบสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากที่ไหนอีกเลย

No comments:

Post a Comment