Monday, August 27, 2012

มายาการแห่งวันหมดอายุ

น้ำเปล่ายังมีวันหมดอายุคิดดู!!
เราคงคุ้นเคยกับวันหมดอายุบนฉลากอาหารหรือเครื่องดื่มกันดี เพราะเราต้องตรวจเช็คอยู่เสมอก่อนจะซื้อสินค้า แต่มาวันนี้หน้าที่ของวันหมดอายุก็ไม่ได้เป็นเพียงวันหมดอายุธรรมดาอีกต่อไป

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับวันหมดอายุ?

ทุกวันนี้ "วันหมดอายุ" ถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นและเร่งการบริโภคอย่างบ้าคลั่งในสินค้าและบริการที่หรูหรา เปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อบ่อยๆ

เราจึงได้เห็นค่าโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน มีวันหมดอายุที่สั้นมากๆ เพื่อเร่งให้เราใช้เงินนั้นให้หมดตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้นก็ต้องเติมเงินเข้าไปใหม่เพื่อให้ยอดเงินคงค้างกลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เราจึงได้เห็นสมาร์ทโฟนที่เราเพิ่งซื้อมาแค่ครึ่งปี กำลังจะมีโมเดลใหม่รุ่นเดิมไล่หลังออกมาให้เราเซ็ง แถมราคาเครื่องที่เราซื้อ ตกลงไปหลายพันบาทในเวลาไม่นาน ทำให้หลายคนต้องวิ่งตามกระแสด้วยการเปลี่ยนมือถือบ่อยๆตามรุ่นใหม่ๆที่ออกมา

เราจึงได้เห็นสินค้าเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยมีอายุการใช้งานยืนยาว มีอายุการใช้งานสั้นลง เพราะลดคุณภาพวัสดุที่ใช้ เพื่อให้เกิดการซื้อเปลี่ยนใหม่เร็วขึ้น แถมราคาก็ไม่ได้ลดลงมากนัก

เราจึงไม่สามารถหาซื้อหน่วยความจำคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าที่ผลิตเอาไว้เมื่อปีก่อนมาใส่เพิ่มให้คอมพิวเตอร์ตัวเก่าของเราได้ เพราะมันมีเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่เรียบร้อยแล้ว

เราจึงได้เห็นวัยรุ่น เปลี่ยนสไตล์เสื้อผ้าหน้าผมกันเป็นว่าเล่น เพราะมันตกเทรนเร็วมาก

เราจึงไม่สามารถโหลดแอปใหม่ๆลงมือถือตัวเก่าได้เพราะระบบปฏิบัติการของเราเก่าเกินไป ไม่รองรับอะไรใหม่แล้ว

เราจึงไม่สามารถเปิดไฟล์งานที่ทำขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ได้ เพราะของเรามันเก่าไปแล้ว ต้องเสียเงินซื้อโปรแกรมตัวใหม่มาใช้งาน

ยังมีสินค้าและบริการอื่นๆอีกหลายรายการที่ไม่ควรจะมีวันหมดอายุ แต่ก็ดันมีขึ้นมา เป็นวันหมดอายุแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการใช้งานสักเท่าไหร่ แต่มันกระทบกับความรู้สึกส่วนตัว และส่วนใหญ่จะเกิดกับสินค้าแฟชั่นหรูหราฟุ่มเฟือย

ซึ่งกลยุทธของผู้ผลิตคือ รีบออกสินค้าและบริการรุ่นใหม่ๆไล่หลังมาเป็นระยะ อาจจะครึ่งปีครั้ง ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าไปกำหนดวันหมดอายุของสินค้ารุ่นเก่าทันที ทำให้ผู้ใช้ที่อ่อนไหวต่อกระแสนิยมต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะเปลี่ยนไปใช้รุ่นใหม่ ยอดขายก็จะพุ่งกระฉูด ทำเงินให้กับผู้ผลิตกันอย่างต่อเนื่อง สินค้าพวกที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ก็คือพวกมือถือ แทปเล็ต เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ

แล้วยิ่งสังคมส่วนใหญ่มักจะตัดสินกันที่ว่าใครแต่งตัวดูดี มีมือถือ อุปกรณ์ไฮเทคพกพาดีกว่าและมากกว่า ก็จะยิ่งดูดีน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น ก็กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคน พยายามที่จะทำตัวให้ดูดีอยู่เสมอโดยหามือถือรุ่นล่าสุดมาใช้ ถือแทปเล็ตไปไหนมาได้ด้วยตลอดเวลา และมีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คบางๆสวยๆอีกตัวพกติดตัวไปทุกที่

คิดดูก็แล้วกันครับว่า บางคนเงินกินข้าวก็ไม่ค่อยมี แต่มีมือถือเครื่องละ 2 หมื่นกว่าใช้งาน เด็กบางคนมีมือถือ 3-4 เครื่องก็มีให้เห็นนะครับ ซึ่งถ้าไปดูกันจริงๆแล้ว มันก็ไม่ได้ถูกใช้งานจริงๆจังๆหรอกครับ ส่วนใหญ่เอาไว้เล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ค เล่นเน็ต ดูหนัง ฟังเพลง อวดเพื่อน แค่นี้จริงๆ

และไอ้ความดิ้นรนทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้มีความมั่นใจ มีความภูมิใจในตัวเอง

ถามจริงๆว่าถ้าเอาของมีแบรนด์เหล่านี้ออกไปจากชีวิตคุณ แล้วคุณจะกลายเป็นแค่ไอ้เบื้อกคนหนึ่งที่ไม่มีค่าอะไรอย่างนั้นเหรอ?

แบบนี้ก็ไม่เรียกว่าความภูมิใจแล้ว เพราะคนที่มั่นใจในตัวเองหรือภูมิใจในตัวเองจริงๆนั้น เขามีดีอยู่ข้างใน แต่ภายนอกจะสะท้อนออกมาหรือไม่ เขาก็ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว

ส่วนคนที่เอาของหรูๆมาห้อยเต็มตัวแล้วบอกว่ามั่นใจในตัวเองนี่ แบบนี้เรียกว่ากลบเกลื่อนความไม่มั่นใจของตัวเองมากกว่าครับ ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ด้วย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็ได้ มีนักออกบบบางคนที่ฝีมือเข้าขั้นเซียนคนหนึ่ง เขาใช้แค่โปรแกรมกราฟฟิกรุ่นเก่าก็สามารถออกแบบงานได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่กลับบางคนที่ใช้โปรแกรมรุ่นใหม่ล่าสุด ความสามารถของโปรแกรมก็มากกว่า แต่ก็ไม่สามารถสร้างงานที่ดีเทียบเท่าได้ เห็นไหมครับ

ดังนั้นเราก็ไม่ควรจะไปให้ค่าว่าอะไรเก่าแล้วเชย เก่าแล้วไม่ดี ของใหม่กว่าย่อมดีกว่า เพราะบางทีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมากับเงินที่เสียไปในการซื้อของใหม่ มันก็ไม่คุ้มค่าเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มอย่างแท้จริง เป็นเพียงการชดเชยความรู้สึกของตนเองเท่านั้น อะไรที่ใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน ซ่อมแซมบูรณะบ้างก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เสียแล้วจะทิ้งอย่างเดียว หรือไม่ใช่เก่านิดเดียวก็ขายทิ้งเพื่อไปซื้อของใหม่ โดนผู้ผลิตดูดเงินไปเรื่อยไม่รู้จบ

และด้วยเล่ห์กลของวันหมดอายุนี่แหละ มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมาเพื่อจะโกยรายได้เข้ากระเป๋ากันอย่างเข้มข้น จนทำให้เศรษฐกิจเกิดเป็นฟองสบู่อย่างทุกวันนี้

แล้วผลของมันอีกประการก็คือ ก่อให้เกิดขยะล้นโลก กำจัดไม่ทัน กลายเป็นมลภาวะเป็นพิษขึ้นมาอีก

ไม่เชื่อก็ไปดูสินค้าคุณภาพต่ำที่ผลิตในจีนแล้วส่งมาขายที่เมืองไทยสิครับ ราคาถูกมาก แต่ใช้งานได้เดี๋ยวเดียวก็กลายเป็นขยะไปแล้ว ซ่อมก็ไม่คุ้ม

สุดท้ายคนไทยเองนั่นแหละที่ต้องรับภาระจากขยะพิษทั้งหลายนี้ไปโดยปริยาย

Wednesday, August 22, 2012

เลิกนั่งยางตัวเอง


ความเครียด ความบีบคั้นกดดัน ความคาดหวัง การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ การแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า การไต่เต้าไปหาชีวิตที่ปรารถนา ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าตัวเองได้ลงมือแก้ปัญหาชีวิตอยู่ทุกวัน หลงคิดว่าชีวิตจะมีปัญหาน้อยลงเรื่อยๆ ก็เลยได้แต่สาละวนหาอยู่หากิน ตะเกียกตะกายหาทางขึ้นหิ้งให้ได้ แถมแอบมองพวกที่ทำพออยู่พอกินแบบเหยียดๆอีก หารู้ไม่ว่าตัวเองนั่นแหละ ที่หาเรื่องใส่ตัวเองไม่เว้นแต่ละวัน มันก็เลยเครียดมากยิ่งขึ้นไงเล่า

ชีวิตที่ดีขึ้น มันควรจะดีขึ้นทันที ไม่ใช่ต้องไปทนทุกข์ยาวนานแล้วก็หวังลมๆแล้งๆว่าชีวิตข้างหน้าจะดีขึ้น

เหตุนี้เองที่ทำให้คนทุกวันนี้ได้แต่นั่งทับเหตุแห่งทุกข์ของตนโดยไม่รู้ตัว แถมเอาเหตุแห่งทุกข์ใหม่มาสุมไฟเผาผีตัวเองอีก แล้วก็บ่นว่าชีวิตมันบีบคั้น อย่างนั้นอย่างนี้ ก็แหงสิครับ ชีวิตคนที่มีแต่การสร้างเงื่อนไขว่าจะให้ชีวิตมันดีอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็บีบคั้นเป็นธรรมดา ไม่ต้องโทษใครหรอก ถ้าไม่เชื่อจะยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องอาหารการกิน

ทุกวันนี้เรากินแต่ของสำเร็จรูป คนอื่นเขาทำเสร็จแล้วเราก็ไปนั่งกินสบายๆ เราอยากจะกินอะไรเราก็สั่งเอา แล้วอาหารที่เรากินเข้าไปก็มีแต่สารพิษในทุกส่วนประกอบ ผงชูรสที่ทำให้ลิ้นชาและมึนหัว เป็นอาหารที่มีแต่โทษภัยจนทำให้เราเจ็บป่วย จะไปโทษคนขายก็ไม่ได้ เพราะคนขายเขาทำตามใจปากเราไง กำไรสูงสุดไง และถ้าไม่อร่อยเราก็ไม่ซื้อกิน จริงไหม แต่พอกินตามใจปาก เราก็มีต้นทุนใหม่เป็นความเจ็บป่วย ว่าแล้วก็มีข่าวหรืองานวิจัยเรื่องสุขภาพแว่วเข้าหู ทำให้เราวิตกจริตว่าความเจ็บป่วยจะเล่นงานเราจนหมดตัวเข้าสักวันหนึ่ง ก็เลยรี่ไปทำประกันชีวิต โดยที่เหตุแห่งทุกข์อันเดิมยังอยู่ คือทำประกันชีวิตให้เราได้กินตามใจปากต่อไป แต่ทุกข์อันใหม่เอาเข้ามาสุมก็คือ เราต้องหาเงินมาจ่ายค่าประกันสุขภาพ ประกันชีวิต สุดท้ายมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาไง ถึงวันหนึ่ง สุขภาพแย่ เจ็บป่วยจนต้องออกจากงาน แถมใช้เงินรักษาเยอะเกินกว่าวงเงินประกัน คราวนี้ต้องใช้กรรมทบต้นทบดอก หมดตูดกันตอนหมดสภาพ หาเงินก็ไม่ได้ ตามใจปากก็ไม่ได้ แถมเงินประกันก็ไม่พอจ่าย อย่างนี้เรียกแก้ปัญหาไหมครับ

เอาอีกตัวอย่างก็ได้ รับประกันความมัน...เรื่องรถ

ทุกวันนี้ใครๆก็อยากจะมีรถ เพราะรถติดเหลือเกิน รถเมล์ก็ห่วย แท็กซี่ก็แย่ บ้านก็ไกล ถ้าจะต้องออกไปติดบนถนนก็ขอนั่งสบายๆในรถส่วนตัวหน่อยก็แล้วกัน ว่าแล้วก็ซื้อรถดีกว่า งานแสดงรถล่าสุด ยอดขายทุบสถิติไปเป็นแสนคัน แต่ถนนเท่าเดิม แล้วจะวิ่งยังไง พอซื้อรถมาแล้วก็ต้องมานั่งผ่อนมัน แล้วขับออกไปติดเหมือนเดิมหรืออาจจะยิ่งกว่าเดิม ติดนานๆ จากความสบายที่เคยชินมากขึ้น ก็กลายเป็นทุกข์อีก เบื่ออีก ก็ต้องเล่นมือถือแก้เบื่อ เสียค่าเน็ตอีก ค่าน้ำมันอีกเท่าไหร่(ซึ่งมันก็ขึ้นราคาตามใจใครก็ไม่รู้) แล้วก็ต้องจ่่่ายค่าประกันภัย ค่่าพรบ. ค่าซ่อมแซม ค่าแต่งรถ ค่าจอดรถ ค่่าล้างรถ เสร็จแล้วก็มองหาตุ๊กตาหน้ารถ เสร็จแล้วตุ๊กตาหน้ารถก็ไปมีกิ๊ก ฯลฯ ไม่รู้จบสิ้น สรุปแล้วไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เห็นมีแต่ปัญหาใหม่ๆเต็มไปหมด

คนส่วนใหญ่แก้ปัญหากันอย่างนี้ิจริงๆครับ พอสิ่งที่ตนคิดว่าดีเข้ามา แล้วอยู่กับมันนานหน่อยก็เริ่มชาชิน เริ่มเห็นมันเป็นภาระ เริ่มเบื่อ เริ่มหาเหตุผลที่จะแสวงหาสิ่งใหม่ๆที่คิดว่าดีกว่า ก็เลยมองหาภาระใหม่ขึ้นมา อุปโลกน์ให้มันเป็นเป้าหมายเพื่อที่จะมาวิ่งไล่ พอวิ่งไล่ได้แล้วก็เบื่อ ก็สร้างเงื่อนไขใหม่ให้ตัวเองวิ่งอีก เสร็จแล้วปัญหาทั้งหลายก็ไม่ถูกแก้ เพียงแต่ถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปที่สิ่งใหม่แทน ชีวิตคนในระบบทุนมันเลยเหมือนนั่งยางตัวเอง คือนั่งทับแต่ปัญหาเอาไว้ แล้วสร้างเหตุแห่งทุกข์ใหม่ๆเพิ่มเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งมันก็ติดไฟ ไหม้คนที่นั่งทับอยู่นั่นแหละ ผมจึงไม่เห็นว่าใครมันจะหายจากทุกข์ได้เลย ยังตลกกันออกไหมเล่า

แล้วอาการแบบนี้เป็นกันทั่วโลก แต่ที่ไม่เห็นเพราะถูกสื่อ โฆษณา ประชาสัมพันธ์มันหลอกเอา มอมเมาเอา ปิดบังอำพรางเอา อย่าคิดว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วจะไม่โดนหลอกนะครับ โดนกันทั้งนั้นแหละถึงได้ทุกข์กันอยู่นี่ไง

การแก้ปัญหาจริงๆนั้น มันต้องลด ละ เลิก ไม่ใช่ไป เพิ่ม พอก พูน ไล่ตามตัณหาตัวเอง เพราะสินค้าและบริการทั้งหลายล้วนมาพร้อมเงื่อนไขที่ซ่อนเอาไว้ หลังเครื่องหมายดอกจันบ้าง ปิดบังเอาดื้อๆบ้าง บิดเบือนด้วยเงื่อนไขต่างๆบ้าง ]ละลายใจเราด้วยราคาที่ถูกแสนถูกของมันบ้าง หลอกให้เราภูมิใจเมื่อได้เป็นเจ้าของบ้าง ซื่งเงื่อนไขทั้งหลายนั่นก็คือปัญหาไง แล้วเราก็คิดว่าจะหาซื้อสิ่งต่างๆทั้งหลายมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ไม่เคยเข้าใจเลยว่า ยิ่งแก้ก็ยิ่งไม่จบ เพราะมันก็เป็นเพียงการต่อปัญหาออกไปเรื่อยๆนั่นแหละ

อีกปัญหาของคนทุกยุคทุกสมัยก็เหมือนๆกัน หยุดไม่เป็น ลงจากหิ้งไม่เป็น ได้แต่ดันไปข้างหน้าเรื่อยๆ ปีนขึ้นที่สูงเรื่อยๆ ยิ่งสมัยนี้เป็นยุคที่กระตุ้นตัณหาได้ง่ายๆผ่านหน้าจอ มันก็กระตุ้นกันจนแทบจะสำเร็จความใคร่ได้ทุกสองวินาทีแล้ว บ้าไหมครับ

ผมสรุปได้เลยว่า วิถีทุนนิยมและบริโภคนิยมนี่แหละคือเหตุแห่งทุกข์ตัวจริง โครงสร้างของระบบทุนนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อมนุษย์ แต่มันเป็นเพียงระบบทาสแปรรูปเท่านั้น คือมันทำให้การเป็นทาสและการกดขี่เป็นเรื่องถูกกฏหมายได้อย่างน่าอัศจรรย์

ก็จะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์ได้ยังไง เพราะทุกคนแสวงหาความมั่งคั่งจากต้นทุนที่น้อยที่สุด รับผิดชอบให้น้อยที่สุด ให้ได้กำไรมากที่สุด ทุกคนก็เลยผลิตสินค้าและบริการเพื่อออกมาดูดเงิน สร้างความมั่งคั้งให้ตน แต่ไม่ได้สนใจว่าผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้นจะดีจะร้ายยังไง แถมเรายังถูกกระตุ้นให้ต้องออกแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิตทุกวัน ตามภาพฝันที่นักโฆษณาป้อนข้อมูลให้เราตลอดเวลา วิถีของบริโภคนิยมจึงเป็นวิถีที่ทำลายตัวเอง และทำลายโลกอย่างสิ้นเชิง แถมทำลายในอัตราเร่งที่น่ากลัวว่าทรัพยากรของโลกอาจจะไม่เหลือให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานด้วยซ้ำ

ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณในระบบทุนนั้นไม่ต้องไปถามถึงครับ นายทุนทั้งหลายเขาลบเส้นแบ่งตรงนั้นทิ้งไปนานแล้ว แถมล่อหลอกเราด้วยกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ตัวเองอย่างแนบเนียนทำให้เราคิดว่าเขาเป็นนักบุญด้วยซ้ำ ไม่เชื่อไปถามประเทศกลุ่ม G8 ดูสิ(ฮา)

การแก้ปัญหาความทุกข์ที่มากับวิถีบริโภคนิยมที่แท้จริงจึงไม่ใช่การไปฟังนายทุนพูดวิธีการแก้ปัญหา เพราะนายทุนเขาต้องการขายของ ไม่ใช่แก้ปัญหาของเราจริงๆ ถ้าเราจะแก้ให้ได้ตรงจุดก็ต้องล้างอิทธิพลต่อสื่อและโฆษณาที่มีต่อเราทิ้งให้หมด สิ่งรบกวนเหล่านี้คือตัวหลอกล่อเบี่ยงเบนให้เราหมกปัญหาที่แท้จริง แล้วไปสร้างปัญหาใหม่ที่ต้องพึ่งนายทุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องได้รับรู้ไส้ในของกลไกเหล่านี้ ให้เห็นเหตุ ให้เข้าใจ อย่างถ่องแท้ถึงกึ๋น ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าใจกลไกและเล่ห์กลของมันทั้งหมด จนเห็นความอัปลักษณ์น่าเกลียดของมันที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากอันสวยงามน่าหลงใหล แล้วมันก็จะลด ละ เลิกได้เอง

ถามจริงๆว่า ถ้ารู้แล้วคุณทำใจได้เหรอที่จะยอมโง่ให้มันหลอกลวงต่อไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น

ทางออกที่ไม่ต้องพึ่งระบบทุน(หรือพึ่งให้น้อยที่สุดจนไม่ใช่เรื่องสำคัญ)นั้นมีอยู่ ข่าวดีก็คือ เรามีองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการพึ่งตัวเองมากพอที่จะปลดแอกแล้ว ณ วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรธรรมชาติที่ไม่ต้องพี่งสารเคมี การแพทย์ทางเลือก การสร้างบ้านดินด้วยตนเองบนต้นทุนที่ต่ำแสนต่ำ พลังงานทางเลือกที่ถูกและสะอาด สิ่งเหล่านี้มีคนพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่า เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งระบบทุนจนกลายเป็นทาสอีกต่อไป

ขอให้ทุกท่านได้เปิดใจ เรียนรู้วิถีการพึ่งตนเองเพื่อที่จะปลดแอกจากระบบทาสทุน เพราะถึงวันนี้ เราได้เห็นอนาคตลางๆแล้วว่า ชีวิตของทาสในระบบทุนจะทุกข์หนักหนากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกหลายเท่าครับ

Tuesday, August 14, 2012

ความเสื่อมสมรรถภาพด้านการพึ่งตนเองของคนรุ่นใหม่

ถ้าน้ำท่วมขนาดนี้คุุณพึ่งตัวเองได้ขนาดไหน?
วามเสื่อมสมรรถภาพด้านการพึ่งตนเองของคนรุ่นหลังๆที่เกิดในระบบทุนนั้น แสดงให้เห็นชัดที่สุดก็ตอนที่น้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปี 2554 นั่นแหละครับ พอน้ำมาทุกคนก็พึ่งตนเองไม่ได้กันเลยทีเดียว คิดดูก็แล้วกันว่าถ้าน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพทั้งหมดจะโกลาหลกันขนาดไหน

นิยามของการพึ่งตนเองนั้น หากเป็นสภาวการณ์ปกติ มันก็อาจจะหมายถึง การทำมาหากินด้วยตนเอง มีเงินจับจ่ายใช้สอย

ในขณะที่ระบบทุนดำเนินไปตามปกติ ทุกคนก็จะเก่งหรือเจ๋งในแบบของตน แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤตจริงๆ วิกฤตจนกระทั่งเงินก็ไม่มีความหมาย ข้าวของแพงจนไม่สามารถจับจ่ายได้ตามปกติ ถึงตอนนั้น ความสามารถในการพึ่งพาตนเองก็จะลดลงจนเราจะได้เห็นว่า การพึ่งตนเองในความหมายที่เราเข้าใจกันตามปกตินั้นมันไม่ใช่เสียแล้ว ไอ้ที่เจ๋งก็จะกลายเป็นจ๋อยไป และจะได้เข้าใจว่าจริงๆเราไม่ได้พึ่งตนเองอย่างแท้จริงหรอก เราเอาแต่พึ่งพาระบบต่างหาก พอระบบมีปัญหาขึ้นมา เราถึงได้มีปัญหาตามระบบไปด้วย

Tuesday, August 7, 2012

ภัยสี่ด้านในบ้านคุณ 3

จากเรื่องชวนขนลุกเกี่ยวกับอาหารและระบบสาธารณสุขพื้นฐาน ก็มาต่อที่เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเราจะพูดกันถึงเรื่อง "บ้าน" เป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญกับชีวิต แต่ทุกวันนี้ "บ้าน" มาพร้อมกับระบบหนี้ทาส เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินถีบตัวสูงขึ้นจนคนระดับล่างๆได้แต่มองตาปริบๆ หรือถ้าจะกระโจนใส่มัน ก็จะต้องตกเป็นทาสไปตลอดชีวิต

เมื่อ 6-7 ปีก่อน(อ้างอิงจากปี 2555 ย้อนหลังไป) ผมเคยไปดูบ้านเดี่ยวชานเมือง ฝันว่าอยากจะมีบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ มีที่เอาไว้ปลูกสวนสวยๆ ก็เลยขับไปดูทำเลที่สนใจ เมื่อก่อนนั้นบ้านเดี่ยวราคายังไม่แพงมากครับระดับกลางๆก็แค่ 2.5-4 ล้าน ถ้าหรูหน่อยก็ 5-6 ล้าน แต่พอมา ณ ปัจจุบัน เงิน 2.5-4 ล้านซื้อได้แค่ห้องคอนโดเล็กๆ ส่วนเงิน 5-6 ล้านก็ซื้อได้เพียง บ้านเดี่ยวหลังเล็กๆเท่าแมวดิ้นตาย แถมออกไปไกลจากตัวเมืองมากๆ

Friday, August 3, 2012

หมู่บ้านพอ

ความเป็นมาของ หมู่บ้านพอ

หมู่บ้านพอถือกำเนิดประมาณเดือนธันวาคม 2554 เป็นกลุ่มเปิดในเฟสบ๊ค ภายหลังจากมหาอุทกภัยใหญ่ที่ถล่มภาคกลางเริ่มซาลง ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายเป็นวงกว้างและคำถามมากมายต่อความอ่อนแอของระบบทุนนิยมอย่างที่ไม่เคยเเป็นมาก่อน

น้ำท่วมในครั้งนั้นทำให้ได้เห็นว่า ความเป็นคนเมืองที่ต้องพึ่งพาระบบทุนนิยมนั้นเปราะบางและอ่อนแอเพียงใด ไม่แค่คนเมือง แต่คนชนบทที่รับวิถีทางของระบบทุนไปก็อ่อนแอไม่แพ้กัน โดยเห็นได้จากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องรอคอยและร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและอาสาสมัครจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเท่านั้น ระบบทุนที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งและการกระจายสินค้าก็พลอยหยุดชะงักจนกระทั่งเกิดการขาดแคลนน้ำและอาหารไปทั่วพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นก็ทำให้ความจริงอันน่าตกใจแสดงตัวออกมาว่า คนในระบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้จริงในยามวิกฤต