Thursday, November 15, 2012

หัดยืนบนขาตัวเองที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง ตอนที่ 2(จบ)

่อนหน้าที่ผมจะมาอบรมเกษตรธรรมชาติที่สองสลึงนิ้ ผมมีภาพของเกษตรกรในหนังไทยสมัยก่อนที่วาดภาพเอาไว้ว่า เกษตรกร(หรือชาวนา)ไม่อยากให้ลูกมาลำบากทำการเกษตรแบบตน จึงส่งให้ไปเรียนสูงๆในเมืองแทน

ภาพชาวนาโพกผ้าขาวม้าถือจอบถือเสียมกำลังขุดผืนนาที่แห้งผากท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง ลงจอบดังแก๊งๆ ทำให้ผมด่วนสรุปไปแล้วว่าอาชีพเกษตรกรนั้นลำบากแสนเข็ญกว่าจะได้เงินสักบาท แถมโดนกดขี่จากนายทุนอีก จึงเป็นอาชีพที่ไม่น่าทำอย่างแรง

แต่...นั่นเป็นภาพเก่าๆที่เราถูกฝังหัวเอาไว้ครับจวบจนได้มาอบรมเกษตรธรรมชาติที่นี่ ภาพทั้งหมดที่ว่านั้นถูกลบล้างไปจนหมดสิ้น

เพราะอะไรครับ?

อย่างแรกคือเพราะความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินเกษตรธรรมชาตินั้นให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงๆ ให้ทั้งพืชและสัตว์ที่เป็นอาหาร ให้ทั้งไม้ที่เราสามารถนำไปใช้งานได้ หรือแม้กระทั่งสร้างบ้านจากดินก็ได้ง่ายๆใช้เงินไม่มากมาย เรียกว่ามีทุกอย่างที่จะปลดแอกเราจากระบบทุนที่เอาแต่ผูกมัด กดขี่ เบียดเบียน สูบเลือดเนื้อ และพยายามจะมีส่วนร่วมกันเงินในกระเป๋าเราอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

อย่างสุดท้ายที่สำคัญคือ มันไม่ได้ลำบากตรากตรำแบบที่หนังหรือสื่อต่างๆได้เคยให้ภาพเอาไว้ครับ โศกนาฏกรรมแบบนั้นมันเกิดกับเกษตรเชิงเดี่ยวเท่านั้น แล้วสื่อก็เอามาใส่ความดรามาบ้าพอฟูมฟายเข้าไปเอง ซึ่งในส่วนของเกษตรกรแนวเกษตรธรรมชาตินั้น ผมเห็นเขาใช้ชีวิตแบบชิลด์ๆ เย็นใจกันทุกคน วันหนึ่งๆทำงานกันไม่มากก็มีเวลาว่างให้ครอบครัวได้เยอะแยะ เพราะเมื่อใดก็ตามที่จัดระบบนิเวศน์ให้พืชและสัตว์มันเกื้อกูลกันเองได้แล้ว ที่เหลือมันก็ไม่ยากแล้วครับ เราแค่คอยดูแลบำรุงดิน(หรือเลี้ยงดิน)ให้ดีเท่านั้น ผลผลิตก็จะงอกงามเองอย่างไม่น่าเชื่อ

มีกรณีหนึ่งที่น่าคิดมากครับ ลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึงบอกว่ามีที่ดิน 5 ไร่ สามารถปลดหนี้ 1 ล้านได้ภายใน 5 ปี แถมกระซิบบอกด้วยกว่าได้ 5 ปีนี้สำหรับพวกขี้เกียจนะ แต่ถ้าขยัน 3 ปีก็หมดแล้ว

วิดีโอ 5 ไร่ 1 ล้าน




คิดดูครับว่าคนเมืองจะหาเงินล้านแรกได้ไม่ใช่เรื่องหมู ผมเองจนป่านนี้ก็ยังไม่มีเงินล้านนะครับ เพราะมันยากจริงๆ ยิ่งเงินเดือนสูงยิ่งค่าใช้จ่ายสูง ต้นทุนทุกอย่างสูงตามรายได้หมด การหาเงินล้านคงยากครับ แต่ลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์แกทำได้ โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกแบบแก เอาโมเดลของแกไปต่อยอดได้เลย

ส่วนที่ผมมาอบรมเกษตรธรรมชาตินั้นไม่ใช่เพราะอยากรวยอะไรหรอกครับ ผมเพียงต้องการใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องพึ่งระบบทุนนิยมภายนอกมากจนเกินไปเท่านั้นเอง เพราะทุนนิยมนั้นมีแต่เงื่อนไขบีบรัดเราไปซะทุกเรื่อง ไม่รู้มันจะอยากมีส่วนในชีวิตเราไปหมดทุกเรื่องกระมัง

เรามาเข้าเรื่องการอบรมต่อเลยดีกว่าครับ

ด่านแรกของวันที่ 2 ของการอบรมนั้นเริ่มต้นด้วยการเผาถ่านครับ การเผาถ่านที่ว่านี้ก็ทำกันในถัง 200 ลิตร ซึ่งไม้ที่ใช้ก็เป็นเศษไม้จาการตัดรอนกิ่ง ไม่ใช้ไม้ท่อนใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าครับ การเผาถ่านแบบนี้จะให้ถ่านไม้คุณภาพสูง คือไม่มีสาร TAR หรือ น้ำมันดิน อันเป็นสารก่อมะเร็ง ถ่านที่ได้จะไม่มีฝุ่นดำเปื้อนมือ และมีลักษณะแข็ง จุดไฟแล้วได้ความร้อนสูง ไม่มีควันดำ ใช้สำหรับปิ้งย่างได้ดี อัตราส่วนเนื้อถ่านต่อส่วนที่กลายเป็นเถ้าก็อยู่ในอัตราส่วนที่สูง เรียกว่าเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าผู้เผาชำนาญก็จะไม่มีส่วนที่กลายเป็นเถ้าครับ แถมการเผาถ่านแบบนี้จะสามารถทำให้เราเก็บน้ำส้มควันไม้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ไล่แมลง ผสมน้ำฉีดพ่นพืชผักก็ช่วยกันแมลงไม่ให้มากัดกินต้นพืชได้ ฯลฯ

วิดิโอ เตาเผาถ่าน 200 ลิตร


ผมจะเล่าเรื่องราวแบบผ่านๆนะครับ ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาการเรียนรู้ด่านต่างๆจะค่อยๆทยอยมาลงให้ในภายหลังครับ

ถัดจากการเผาถ่านเราก็ไปที่เรียนรู้การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์กันต่อ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ผลิดได้จากกระบวนการนี้ก็คือก๊าซมีเทนครับ ให้ความร้อนสูง ใช้กับหัวเตาแก๊สที่ปลดวาว์ลแรงดันออกแล้ว ได้นานต่อเนื่องถึง 40 นาที ระบบเริ่มต้นลงทุนไม่มากครับ แต่วัสดุที่ใช้ผลิตก๊าซนั้นสามารถหาได้ง่ายๆจากในที่ดิน ซึ่งก็คือมูลสัตว์ และผลไม้สุกงอม ยกเว้นผลไม้เปรี้ยวหรือ ประเภทรสฝาดๆมันๆ การผลิตก๊าซนี้จะใส่น้ำหมักลงไปไม่ได้นะครับ

ส่วนวัสดุพวกมูลสัตว์ที่หมดเชื้อผลิตก๊าซแล้ว ก็ยังสามารถนำไปทำปุ๋ยได้อีก ระบบเกษตรธรรมชาตินี่ไม่มีของเหลือจริงๆครับ ทุกอย่างในที่ดินสามารถนำมาเวียนใช้ได้ไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรแห่งการเกื้อกูลชีวิตภายใต้ต้นทุนต่ำที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในเขตเมืองครับ

พอเสร็จจากฐานผลิตก๊าซชีวภาพเราก็ไปที่บ่อเลี้ยงปลากันต่อเลย

บ่อปลาขนาดใหญ่ที่ลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์ขุดเอาไว้มีปลามากมาย ซึ่งลุงผู้ใหญ่ก็อธิบายการเลี้ยงปลาเอาไว้ค่อนข้างละเอียดครับ แต่ด้วยความที่ไม่รู้เรื่องพันธุ์ปลาเท่าไหร่ ก็เลยไม่ได้สนใจมากนัก รู้คร่าวๆว่าให้เลือกพันธุ์ปลาที่จะปล่อยลงบ่อในลักษณะจัดระบบนิเวศน์ให้มัน ปลากินพืช ปลากินเนื้อ จะต้องปล่อยลงเมื่อไหร่ จะต้องปลูกพืชน้ำเป็นอาหารปลายังไงไม่ให้มันตีกันเอง ตลอดจนการขุดบ่อให้เป็นสองสามระดับเพื่อเป็นที่อยู่ให้ปลาแต่ละชนิดจะได้ไม่ตีกัน พอบรรยายเสร็จแล้วลุงผู้ใหญ่ก็พาพวกเราไปโยนระเบิดจุลินทรีย์เพื่อแก้น้ำเสีย แล้วก็ไปจัดแพผักน้ำให้เข้าที่เข้าทางเพื่อรอรับระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นจากเดิม


วันที่สองนี่ถือว่าเป็นวันที่เนื้อหามากจริงๆครับ หลังจากบ่อปลาแล้วเราก็ต่อด้วยวิชาเบาๆอย่างการทำสบู่ ยาสระผม และน้ำยาอเนกประสงค์ใช้เองครับ ซึ่งเป็นการเรียนและทำจริงไปด้วยในตัว ก็เลยได้รู้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้แทบทุกตัว ซึ่งเห็นได้ชัดครับว่าถ้าเราทำใช้เองจะประหยัดไปได้มากจริงๆ ส่วนอุปสรรคของคนเมืองก็คือ คนเมืองผู้มีรายได้สูงจะมองผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นของถูกๆคุณภาพไม่ดี สู้ของที่ขายในห้างใหญ่ๆไม่ได้ ผมเองก็ไม่เว้นครับ คิดแบบนั้นเหมือนกันจนเคยชิน แต่พอได้มาทำเอง แล้วเอากลับไปใช้ ก็พบว่าถ้าเราหาสูตรที่เหมาะกับเราได้มันก็โอเคครับ สบู่เหลวสูตรมะเฟืองกับยาสระผมสูตรอัญชันที่ได้แบ่งเอากลับบ้านไปนั้นดีมากๆ ใช้แล้วไม่เห็นความแตกต่างกับสบู่และยาสระผมยี่ห้อแพงๆเลยครับ สำคัญคือถูกกว่ามากมาย

เมื่อเสร็จจากการทำสบู่ ยาสระผมแล้วเราก็ต่อกันด้วยหมูหลุมสุดฮากับอาจารย์ตี๋

ตามความคุ้นเคยเก่าๆที่ผมเคยผ่านฟาร์มเลี้ยงหมูแถวนครปฐมก็คือ ฟาร์มเลี้ยงหมูจะต้องมีกลิ่นเหม็นสุดทน สกปรกไปด้วยขี้เยี่ยวของหมู ดังนั้นการเลี้ยงหมูจึงไม่อยู่ในสารบบความคิดของผมเลยแม้แต่น้อย(ถ้าต้องทำการเกษตร) จนกระทั่งมาเจอหมูหลุมของลุงผู้ใหญ่ ความคิดผมก็เปลี่ยนไป

ไม่น่าเชื่อครับว่าคอกหมู่ขนาดไม่ใหญ่ไม่โต เลี้ยงหมูเอาไว้ 2 ตัว แต่กลับไม่มีกลิ่นเหม็นเลยแม้แต่น้อย ย้ำนะครับ ไม่มีกลิ่นเหม็นเลยแม้แต่นิดเดียว อาจารย์ตี๋ยังบอกด้วยว่า คอกหมูของแกนั้นอยู่ติดครัวเลยครับ เพราะจะได้โยนเศษอาหารให้มันกินได้สะดวก ยืนยันมั่นใจกันซะขนาดนั้น
เชื่อหรือไม่ ขนาดยืนตั้งใจดมกลิ่นที่รั้วคอก ก็ยังไม่มีกลิ่นเลยแม้แต่นิดเดียว

ความลับนี้อยู่ที่น้ำหมักจุลินทรีย์ครับ คืออาหารหมูก็ผสมน้ำหมักเข้าไป ทำให้ขี้หมูไม่มีกลิ่น พอหมูขี้เยี่ยวออกมาก็เอาน้ำหมักราดไป จุลินทรีย์ดีจะไปกำจัดกลิ่นให้ พอขี้เยี่ยวหมูสะสมถึงระดับหนึ่งก็ขุดลอกจากพื้นคอกออกไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพได้อีก โอ้โห หาประโยชน์ได้หลายต่อจริงๆ

หมูที่นี่เขาเลี้ยงเอาปุ๋ยครับ ไม่ได้เลี้ยงเอาไว้เป็นอาหาร ซึ่งก็ตรงกับความคิดผมเลย เพราะถ้าเลี้ยงเองจะฆ่ามันคงทำไม่ลง แล้วอาหารที่เลี้ยงหมูก็ไม่ต้องซื้อครับ เศษอาหารเหลือ เศษผัก เศษผลไม้ ผักตบชวา หยวกกล้วย ฯลฯที่หาได้ในพื้นที่ รำข้าว ฯลฯ มันกินได้หมดครับ

เสร็จจากนั้นเราก็ไปรวมกันที่หอประชุมแบ่งงานให้แต่ละกลุ่มได้สรุปเนื้อหาที่เรียนกันไปทั้งวันให้เพื่อนๆได้ฟังหน้าชั้นอีกรอบก่อนแยกย้ายกันไปนอนเอาแรง

วันที่สามเริ่มขึ้นด้วยการไปดูถ่านที่เผาเอาไว้ข้ามคืนครับ มันได้เป็นถ่านออกมาจริงๆ เห็นแล้วน้ำตาจะไหล ในที่สุดก็ได้เป็นคนเอาถ่านกันเสียที(ฮา) นึกๆอยู่ว่าถ้ามาอยู่แบบทำเกษตรอินทรีย์นี่ก็ดีไม่น้อยเลย ไม่ต้องไปกังวลว่าอะไรจะขึ้นราคา เพราะทุกอย่างหาเอาได้จากในที่ดินหมด แม้กระทั่งเศษกิ่งไม้ที่ดูเหมือนขยะก็ยังเอามาทำฟืนได้เลย และควันจากการเผาถ่านนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยไล่แมลงในสวนให้หมดไปด้วย


ถัดจากการเผาถ่านเราก็ไปเรียนการทำปุ๋ยหมักทั้งสูตรน้ำ(น้ำหมัก)และสูตรแห้งต่อทันที ซึ่งปุ๋ยหมักจุลินทรีย์นี่ถือเป็นหัวใจของการพลิกฟื้นผืนดินทีเดียว พูดง่ายๆคือถ้าขาดปุ๋ยหมักทั้งสองอย่างนี้ เกษตรอินทรีย์รอดยากครับ และลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์ก็ขึ้นชื่อเรื่องการทำปุ๋ยหมักอยู่แล้ว เราก็เลยได้มีโอกาสเรียนทำปุ๋ยหมักกับสุดยอดฝีมือโดยตรง

ในส่วนของน้ำหมักนั้นเป็นน้ำสารพัดประโยชน์ สามารถใช้ได้ตั้งแต่การราดส้วม ใช้ทำความสะอาดบ้าน ผสมน้ำรดต้นไม้พืชผักทั้งหลายให้เติบโตงอกงาม กำจัดกลิ่น ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ผสมในอาหารสัตว์ช่วยให้ย่อยง่าย และเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์สูตรแห้ง นอกจากนั้นก็ยังสามารถผสมส่วนผสมสมุนไพรต่างๆเข้าไปเพื่อให้มีคุณสมบัติเฉพาะในการใช้งานจำเพาะบางอย่างได้ด้วย บางอย่างใช้ไล่แมลง บางอย่างช่วยเรื่องไวรัส แบคทีเรีย บางอย่างช่วยปรับปรุงดิน แล้วแต่สูตรครับ

ส่วนของปุ๋ยหมักแห้งนั้น ก็อาศัยซากอินทรีย์วัตถุ รำข้าว และน้ำหมักในการผลิต การทำปุ๋ยหมักแห้งก็ทำโดยการคลุกส่วนผสมที่ว่ามาทั้งหมดตามอัตราส่วนดังนี้

ซากอินทรีย์วัตถุ(พืช สัตว์) 4 ส่วน
มูลสัตว์ 1 ส่วน
เอารำข้าวโรยบางๆ รดน้ำหมัก คลุกให้เข้ากัน

ทิ้งปุ๋ยเอาไว้ในที่ร่ม เอากระสอบปิด และกลับกองปุ๋ยทุกๆ 21 วัน รอจนกว่าปุ๋ยจะย่อยสลายหมด สังเกตได้จากความร้อนในกองปุ๋ยลดลงจนหมด ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย

ส่วนระเบิดจุลินทรีย์ที่กลายเป็นพระเอกในการบำบัดน้ำเสียเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ล่าสุดปลายปี 2554 ก็เกิดจากการนำน้ำหมักกับปุ๋ยหมักแห้งมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการทำนี่แหละครับ ง่ายมะ

หลังจากจบเรื่องปุ๋ยหมักแล้วเราก็ไปต่อกันที่ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่า 3อย่างนั้นประกอบไปด้วย

  1. ป่ากินได้ ก็ได้แก่ผัก ผลไม้ ธัญหาร สมุนไพร หรือพืชอาหารและผลไม้อื่นๆ
  1. ป่าโตเร็ว พวกไม้ใช้สอยที่โตเร็ว สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 3-4 ปี เช่น ไผ่ สะเดา ฯลฯ
  1. ป่าไม้ใช้สอย เป็นพวกไม้ยืนต้นที่ปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์ในระยะยาว เช่น สัก ยางนา ประดู่ มะฮอกกานี

ซึ่งการปลูกพืชอย่างผสมผสานนี้เองที่ทำให้โรคพืชไม่แพร่กระจาย การระบาดของแมลงก็น้อยเพราะไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ตกเป็นเป้าหมายของแมลงได้ง่าย แมลงมากินพืชผลเฉพาะอย่างแป๊บเดียวก็งงแล้ว ไปต่อไม่เป็น และถ้าเราจัดระบบนิเวศน์ให้มันดีๆ พืชทั้งหลายก็จะเกื้อกูลกันเอง ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่โดยตัวมันเอง ทำให้เราทุ่นแรงในการดูแลรักษาได้อีกมากมาย


ในระหว่างการอบรมเราก็จะได้ดูสารคดีต่างๆมากมาย ทำให้เราเข้าในภาพรวมและสถานการณ์ของประเทศและสถานการณ์ของการเกษตรในไทยได้เป็นอย่างดีครับ

พอวันที่ 4 ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ชะโงกทัวร์ลง คือมาดูแล้วก็ไป(ฮา) ทำให้ลุงผู้ใหญ่ของเราดูจะยุ่งๆ เราก็เลยได้ลงไปฝึกทำซ้ำในฐานเรียนรู้ที่เราสนใจ กลุ่มพวกผมก็เลยไปเผาถ่านกันอีกรอบหนึ่ง เพื่อจะได้เก็บถ่านกันในวันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน

ถัดจากเผาถ่านแล้วเราก็มาเรียนการทำไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช ซึ่งทำให้รู้ว่ากระบวนการขั้นตอนต่างๆนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ส่วนเวลาที่เหลือเราก็เรื่อยๆเปื่อยๆของเราไป ไปเฝ้าเตาถ่านบ้าง คุยกันในเรื่องต่างๆบ้าง ที่เยอะจริงๆของวันที่ 4 นี่ก็คือการดูสารคดีการเกษตรและเรื่องราวของเศรษฐกิจพอเพียงนี่แหละ

และคืนวันที่ 4 ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายก่อนกลับบ้าน ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน พวกเราได้ เล่นเกม ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานเป็นที่ประทับใจก่อนเข้านอน

พอเช้าวันที่ 5 ก็มีการมอบประกาศนียบัตรรับรองว่าเราได้ผ่านหลักสูตรแล้ว จากนั้นก็ให้ตัวแทนผู้เข้าอบรมไปกล่าวหน้าชั้น ซึ่งผมเองก็ออกไปพูดด้วยเหมือนกัน เพราะการไปอบรมในหลักสูตรเกษตรธรรมชาติในครั้งนั้น ได้ทำให้คนเมืองอย่างผมเห็นภาพรวมของภัยคุกคามจากทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนถึงทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่คืบคลานเข้ามาได้อย่างแท้จริง
กสิกรรมธรรมชาติรุ่น 1/55

เป็นอันว่าการอบรมแบบเต็มสูบทั้ง 5 วัน ได้เปิดหูเปิดตาให้เราเข้าใจว่า ในหลวงท่านทรงทำอะไรให้เราบ้าง ตลอดจนถึงองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆที่ได้รับการถ่ายทอด จากกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติซึ่งนำโดย อ.ยักษ์นั้นมีความสำคัญอย่างไร และจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตหากประเทศวิกฤตมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า เกษตรธรรมชาตินั้นสามารถเป็นเสาหลักที่พึ่งพิงให้ชีวิตได้จริงๆ แม้จะไม่มีเงินก็สามารถอยู่ได้อย่างไม่ขาดแคลนครับ

ประกาศจาก. ผอ. ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง. จะเปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป. รุ่นที่1 ระหว่างวันที่8-12ธันวาคม2555. จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน. ขอบคุณทุกท่าน. นายสมศักดิ์. เครือวัลย์. เบอร์โทรติดต่อ081-9822404. 087-5851597. 089-83338394

ปล.ได้ยินว่ารุ่นแรกเต็มแล้วนะครับ แต่มีเหลืออีก 3 รุ่น ใครสนใจก็โทรติดต่อไปที่ลุงผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้เลยครับ อบรมฟรี
http://www.facebook.com/agrinaturetwo

No comments:

Post a Comment