Friday, August 3, 2012

หมู่บ้านพอ

ความเป็นมาของ หมู่บ้านพอ

หมู่บ้านพอถือกำเนิดประมาณเดือนธันวาคม 2554 เป็นกลุ่มเปิดในเฟสบ๊ค ภายหลังจากมหาอุทกภัยใหญ่ที่ถล่มภาคกลางเริ่มซาลง ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายเป็นวงกว้างและคำถามมากมายต่อความอ่อนแอของระบบทุนนิยมอย่างที่ไม่เคยเเป็นมาก่อน

น้ำท่วมในครั้งนั้นทำให้ได้เห็นว่า ความเป็นคนเมืองที่ต้องพึ่งพาระบบทุนนิยมนั้นเปราะบางและอ่อนแอเพียงใด ไม่แค่คนเมือง แต่คนชนบทที่รับวิถีทางของระบบทุนไปก็อ่อนแอไม่แพ้กัน โดยเห็นได้จากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องรอคอยและร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและอาสาสมัครจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเท่านั้น ระบบทุนที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งและการกระจายสินค้าก็พลอยหยุดชะงักจนกระทั่งเกิดการขาดแคลนน้ำและอาหารไปทั่วพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นก็ทำให้ความจริงอันน่าตกใจแสดงตัวออกมาว่า คนในระบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้จริงในยามวิกฤต

ประกอบกับที่ผมได้มีโอกาสศึกษาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตนั้นพอดี ภาพร่างทั้งหมดของหมู่บ้านพอจึงประกอบกันอย่างสมบูรณ์ขึ้นในใจ ทำให้ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า ในหลวงท่านทรงพยายามเตือนภัยให้กับคนไทยทุกคนตลอดเป็นเวลากว่าหลายสิบปี

ภัยนี้ไม่ใช่ภัยอันเกิดจากธรรมชาติ ภัยธรรมชาติมาเพื่อเปิดเผยจุดอ่อนและความจริงอันน่าตกใจของระบบทุนเท่านั้น แต่ภัยที่ว่านี้คือภัยคุกคามจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเอง ที่จะทำให้คนไทย อ่อนแอต่อการพึ่งตนเอง มืดบอดต่อระบบอันซับซ้อนที่ระบบสร้างขึ้น อับจนหนทางที่จะเป็นอิสรภาพทางเศรษฐกิจ และที่สุดก็ต้องตกเป็นทาสของอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยผู้กุมอำนาจแห่งทุน ซึ่งสามารถสั่งให้รัฐบาลซ้ายหันหรือขวาหันได้ตามใจนึก และประเทศไทยก็จะตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าในที่สุด เรียกว่าเป็นการยึดครองประเทศแบบถูกกฏหมายและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่ายุคใดๆ

เท่าที่ผ่านมาคนไทยไม่เคยได้ตระหนักถึงภัยทางเศรษฐกิจนี้ ก็เพราะว่า ระบบทุนสร้างภาพอันสวยหรู สร้างความหวังเทียมขึ้นมาหลอกล่อให้คนวิ่งไล่ตาม ตบตาเราด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ให้รางวัลเล็กๆน้อยด้วยความสะดวกสบายที่ผู้เสพต้องแบกต้นทุนของมันด้วยตัวเอง แล้วติดอยู่ในระบบหนูถีบจักรจนกว่าจะหมดแรงวิ่ง กลายเป็นทาสโดยสมัครใจอันต่างจากระบบทาสในอดีตเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่จิตใจกลับรุ่มร้อนด้วยตัณหาจนกลายเป็นทาสทางวัตถุไปเสียแล้ว

หมู่บ้านพอจึงถือกำเนิดขึ้นโดยกลุ่มคนชั้นกลางที่เบื่อหน่ายและรู้เช่นเห็นชาติระบบทุนนิยม ที่นับวันจะสามานย์มากขึ้นเรื่อยๆ หมู่บ้านพอเป็นจุดศูนย์กลางในการรวบรวมภูมิปัญญาและองค์ความรู้พื้นบ้านจากทั่วทุกมุมโลกมาแบ่งปัน เรียนรู้ ฝึกฝนเพื่อการพึ่งพาตนเองในทุกๆด้าน เพื่อฟื้นฟูศักยภาพของมนุษย์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และล้างพิษกิเลสตัณหาที่ถูกรุกเร่งจนถึงขีดสุดามแนวทางบริโภคนิยม ด้วยอานุภาพแห่งสัจธรรมแห่งพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลดแอกผู้คนจากระบบเศรษฐกิจอันกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ให้ทุกคนได้มีที่ยืนของตน สามารถยืนบนขาของตนได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงหมากเบี้ยไร้ค่าในความหมายแห่งทุน โดยลดการพึ่งพาระบบทุนให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนความคิด ลบล้างค่านิยมเก่าๆที่ทำให้จิตใจรุ่มร้อน ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไม่หยุด ลดอำนาจและอิทธิพลการต่อรองของระบบทุนที่มีต่อชีวิตให้มากที่สุด และช่วยคลี่คลายเวทนาความบีบคั้นและความดิ้นรน จากวงจรวิบากอันซับซ้อนของระบบทุนนิยมให้เรียบง่ายขึ้น นำพาให้ทุกคนได้พบสันติสุขในใจอย่างแท้จริง

เนื้อหาและแนวทางแห่งหมู่บ้านพอ

เนื้อหาและแนวทางที่เป็นหลักของหมู่บ้านพอนั้น มีสองส่วนก็คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง และ สัจธรรมแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นสากล

โดยเนื้อหาของหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นรูปแบบที่จะมารองรับความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พอเพียงแก่พื้นฐานของชีวิต สามารถพึ่งตนเองได้จริง มีภูมิคุ้มกันที่ดีกับการเปลี่ยนแปลง ลดความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมและอุปสงค์ลวงที่ถูกสร้างขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนสัจธรรมแห่งพระพุทธศาสนานั้นก็จะช่วยให้ ลดตัณหาความอยากได้อยากมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สรรพชีวิตทั้งหลายต้องดิ้นรนร้อนรน จนไม่อาจจะมีความสุขได้ต่อให้มีเงินมากมายก็ตาม และให้รู้เท่าทันเล่ห์กลอันสลับซับซ้อนทั้งหลายของระบบทุนที่กระตุ้นความอยากในใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายทั้งมวล ที่ผู้คนในระบบทุนมองไม่เห็นและไม่เข้าใจด้วยด้วย

ซึ่งเมื่อผสานรวมทั้งสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือสังคมที่สงบสุข เรียบง่าย ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ สงบสุขด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องไปดิ้นรนพยายามที่จะทำที่จะสร้างอะไรใหม่ๆให้มันสงบสุขอีก ลดความซับซ้อนในการทำมาหากิน ทำลายวงจรอุบาทว์ของระบบคนกลางอันเป็นต้นทุนแอบแฝงที่นับวันจะไร้จรรยาบรรณมากขึ้นทุกที ช่วยปลดแอกจากความดิ้นรนทั้งทางกายและใจ ฟื้นฟูชีวิตในองค์รวม ลดการแบ่งแยก แข่งขัน เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น ทั้งทางกายและใจ สร้างสังคมอริยะขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้คนในยุคถัดไป

เนื้อหาและแนวทางแห่งหมู่บ้านพอนี้ สามารถปรับใช้ได้กับทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่หรือหมู่บ้านชนบทเท่านั้น หมู่บ้านและชุมชนในเมืองก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน หมู่บ้าน ชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันอยู่แล้วก็สามารถนำเนื้อหาและแนวทางแห่งหมู่บ้านพอไปปรับใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ขึ้นกับรูปแบบ ภูมิศาสตร์ และผู้คน

หมู่บ้านพอไม่ใช่สมบัติผูกขาดของใครคนใดคนหนึ่ง มันจึงไม่มีลิขสิทธิ์ เป็นสมบัติของมนุษย์ชาติ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการแสวงหากำไร แต่เพื่อนำพาสันติสุขทั้งทางใจและกายมาสู่มวลมนุษย์ชาติ และถ้าเพียงกลุ่มคนกลุ่มใดมีเนื้อหาและแนวทางตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ถือได้ว่า หมู่บ้านพอ ได้เกิดขึ้นตรงนั้นแล้ว และนั่นก็จะทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันโดยเนื้อหาและแนวทางทันที

และเมื่อหมู่บ้านพอ แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เราก็วสามารถเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกันและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในการฝ่ากระแสทุนนิยมโลกอันเชี่ยวกราก ณ ปัจจุบัน

ท่านที่สนใจสามารถเข้ากลุ่มหมู่บ้านพอได้ที่นี่

No comments:

Post a Comment