Thursday, January 24, 2013

อารยธรรมแห่งความยุ่งยากและคับแคบ

เยอะแบบนี้น่าจะไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ดีกว่าไหม?
ทุกๆเช้าในกทม.เราจะได้เห็นภาพที่ผู้คนมากมายขับรถยนต์จำนวนมากมายออกมาออกันบนถนน ทำให้รถติดอย่างหนักจนถนนดูเหมือนเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่เข้าไปทุกวัน ผู้คนก็ตึงเครียด ตาขวาง ได้แต่บ่นขรมว่าชีวิตไม่มีทางเลือก

จริงหรือที่ว่าไม่มีทางเลือก?
หรือมีแต่ตัวเลือกที่อุปโลกน์ขึ้นจากผู้ผลิต นักโฆษณา และนักการตลาด?
แล้วทำไมตัวเลือกที่โฆษณาตัวเองซะดิบดีว่าจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ดีขึ้น กลับทำให้ทุกๆอย่างในสังคมโดยรวมมันยุ่งยากมากขึ้น บีบคั้นคับแคบมากขึ้น กระเสือกกระสนดิ้นรนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เอ....หรือคุณก็ไม่เคยตั้งคำถามในลักษณะนี้กับชีวิต เพราะมันอาจจะเป็นคำถามที่คุณไม่กล้าเผชิญหน้ามันก็ได้

ความยุ่งยาก ความคับแคบ บีบคั้นทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดจากหลักการของระบบทุนนิยมเอง ซึ่งระบบทุนเป็นระบบที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผู้แข็งแกร่งย่อมอยู่รอด ผู้อ่อนแอย่อมปราชัย หลักการนี้ก่อให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงกันอย่างถูกกฏหมาย(ไม่เชื่อไปถามอเมริกาหัวหอกใหญ่สิจริงไหม) แม้กระทั่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยก็ไม่ได้ช่วยแก้อะไรเพราะเขาเปิดให้แข่งขันเสรี จะเบียดเบียนกันยังไงก็ได้ กติกามีแค่ห้ามฆ่าแกงหรือทำร้ายกันตรงๆ แต่เขาไม่ได้ทำร้าย ทำลายกันในทางเศรษฐกิจเสียที่ไหน

Thursday, January 17, 2013

มายาการแห่งค่านิยม

ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็เป็นทาสทุนไปทุกเรื่อง
ชีวิตเริ่มต้นที่ 40
ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน
ความสำเร็จของชีวิตได้มาจากการทำงานหนัก
ความร่ำรวยคือสุดยอดความสำเร็จของชีวิต
ฯลฯ

ค่านิยมเหล่านี้ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เราอยากจะเป็นจริงๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่อยากทำงาน หรือถ้าต้องทำก็ให้เป็นงานเบาๆ มีกินมีใช้โดยไม่เดือดร้อน สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวมีความสุข ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีบ้านเป็นของตนเอง มีรถ มีบ้านพักตากอากาศเอาไว้พักผ่อนสัมผัสธรรมชาติ และค่านิยมทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนในระบบทุนนิยมสรุปตรงกันตั้งแต่ยังไม่เห็นภาพรวมของสาขาอาชีพต่างๆรวมถึงทางเลือกในชีวิตว่า เราต้องหาเงินให้มากๆจะได้มีเงินมาซื้อความสุข ความสะดวกสบายใส่ตัว และนี่ก็เป็นต้นเหตุให้ทุกคนออกวิ่งแข่งกันอย่างไร้เหตุผลตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนไปจนกระทั่งสิ้นลมหายใจอย่างทุรนทุราย เพราะเราถูกสอนกันมาแบบนี้

ว่าแล้วเราก็โหมทำงานอย่างหนัก พอได้เงินมาก็ซื้อข้าวของ ทรัพย์สินอย่างที่เราคิดว่ามันจะให้ความสุข จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ตัวเองก็ต้องมาหงุดหงิดงุ่นง่านเพราะเวลา 24 ชม.ต่อวันเริ่มจะไม่พอ การงานก็บีบรัด หาเงินได้มากก็กังวลเรื่องภาษี ต้องซื้อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัย กองทุนต่างๆ ฯลฯ เพื่อหักภาษี จนกลายเป็นต้นทุนความยุ่งยากให้ตัวเองแบกไปเรื่อยๆ ทำให้ความเครียดพุ่งเป็นทวีคูณ ลูกเต้าก็ไม่มีเวลาดู พอมีเวลาอยู่กับครอบครัวหน่อย ก็ต้องหาเรื่องเหนื่อยวิ่งออกไปหาที่พักผ่อนหย่อนใจ เพราะชีวิตคนทำงานมันช่างบัดซบจริงๆ กับอีแค่หยุดพักนานๆ ก็รู้สึกผิด ว่างงานก็รู้สึกผิดว่าไม่มีคุณค่าอีก ทำงานแล้วเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นก็รู้สึกมีปมด้อย สุดท้ายแล้วดูเหมือนชีวิตก็เริ่มไม่เป็นไปอย่างที่คิดว่าจะมีความสุข มันได้กลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับอะไรที่เราอยากให้เป็น เพราะค่านิยมทั้งหลายที่สังคมเป่าหูเรามาตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีเอาไว้สอนให้ชีวิตมีความสุขครับ แต่เป็นค่านิยมที่มีเอาไว้รับใช้ระบบทุน เอาไว้รีดความสามารถ รีดแรงงาน รีดคุณค่าทุกอย่างเพื่อรับใช้ระบบทุน โดยไม่ได้สนใจเลยว่าคุณจะมีความสุขหรือไม่

Friday, January 4, 2013

GDP: ความมั่งคั่งของ(ใครบางคนใน)ชาติ

เราคงเคยได้ยินคำว่า GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกันบ่อยๆจากข่าวทีวี หรือข่าวจากช่องทางอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ GDP มากเสียจนต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ่อยๆ และก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง เรามาทำความรู้จัก GDP อย่างเป็นทางการกันก่อนดีกว่าครับจะได้เข้าใจตรงกัน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น (อังกฤษ: gross domestic product: GDP) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด ซึ่งถูกคิดค้นโดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม จีดีพี เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่ไม่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงได้

อ้างอิงข้อมูลจาก wikipedia.org