Friday, January 4, 2013

GDP: ความมั่งคั่งของ(ใครบางคนใน)ชาติ

เราคงเคยได้ยินคำว่า GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกันบ่อยๆจากข่าวทีวี หรือข่าวจากช่องทางอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ GDP มากเสียจนต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ่อยๆ และก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง เรามาทำความรู้จัก GDP อย่างเป็นทางการกันก่อนดีกว่าครับจะได้เข้าใจตรงกัน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น (อังกฤษ: gross domestic product: GDP) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด ซึ่งถูกคิดค้นโดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม จีดีพี เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่ไม่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงได้

อ้างอิงข้อมูลจาก wikipedia.org



จากคำอธิบายข้างต้น คงเข้าใจแล้วนะครับว่า GDP คืออะไร ซึ่งย่อหน้าสุดท้ายที่ผมคัดลอกมานั้นมันชัดเจนอยู่แล้วแบบไม่ต้องอธิบายต่อเลยว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความกินดีอยู่ดีของประชาชนตาดำๆเลย

แล้วทำไม? รัฐบาลถึงได้ให้ความสำคัญกับ GDP นัก?

อย่างแรกคือ GDP เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งที่ทั่วโลกนิยมใช้กันเป็นมาตรฐาน เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งทางวัตถุหรือทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ไม่ได้ชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าตัวเลข GDP ออกมาดี มันก็จะดึงดูดต่างชาติให้มาสูบกินทรัพยากร...เอ๊ย เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

อย่างที่สองคือ ทุกวันนี้รัฐบาลตกเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนที่ครอบงำประเทศอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต่างกันก็แค่จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนกลุ่มไหนเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะตกอยู่ในอำนาจของกลุ่มไหน ประเทศไทยและคนไทยก็ซวยซ้ำซากไม่จบสิ้น ประชาธิปไตยน่ะเหรอ ลืมไปได้เลย เพราะทุกวันนี้เราถูกปกครองด้วยระบอบทุนนิยมธิปไตยไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ GDP มีความสำคัญขึ้นมาอย่างมาก เพราะ GDP นั้น เอาไว้เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งของนายทุนแค่ไม่กี่ตระกูลที่กุมอำนาจทางการเมืองครับ

แม้ GDP จะเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งของประเทศก็จริง แต่รัฐบาลกับนายทุนก็ไม่ได้ออกมาบอกว่าเป็นความมั่งคั่งของใครนี่ คนทั่วไปเขาไม่รู้หรอกว่าความมั่งคั่งนี้มันตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยมีประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงแหล่งทรัพยากรไร้อำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงระบบทุนให้ดำเนินต่อไปได้เท่านั้น

ผมจะอธิบายวงจรการไหลเวียนของความมั่งคั่งให้เห็นภาพกันดีกว่า โดยเราจะตั้งต้นจากผู้คนธรรมดาที่รับจ้างทำงานหรือเกษตรกรที่ขายผลผลิตแลกเงินก็แล้วกัน อ้างอิงถึงคนส่วนใหญ่จะได้เห็นภาพและตาสว่างกันสักที

โดยปกติคนทั่วไปที่ทำงานประจำบ้าง ทำอาชีพอิสระบ้าง ขายผลผลิตทางการเกษตรบ้าง ล้วนแล้วแต่ได้เงินในรูปแบบของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ เล็กๆน้อยๆ ซึ่งรวมทั้งหมดเรียกว่าเงินได้ ซึ่งจะถูกนับเข้าไปใน GDP ด้วยแต่ก็เป็นปริมาณเงินที่ไม่มากนัก

ในขณะเดียวกัน ผู้คนทั้งหลายที่ก้มหน้าก้มตาทำงานวันละหลายชั่วโมงก็ต้องฝากเรื่องต่างๆในชีวิตเอาไว้กับคนอื่น เช่น บ้าน อาหาร สุขภาพ รถยนต์ บันเทิง การศึกษา ได้ถูกฝากเอาไว้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสังคม ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนสำหรับชีวิตทั้งนั้น พูดง่ายๆคือชีวิตที่อยู่ในระบบทุน มันก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ชีวิต แม้ว่าเราจะพยายามทำให้มันดูเหมือนว่าเป็นชีวิตจริงๆก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็คือการลงทุนอย่างหนึ่งที่คุณไม่สามารถที่จะหยุดพักในการสร้างมูลค่าได้เลย เป็นเหตุให้คุณต้องแบกตัวเองอยู่ตลอดเวลา และระบบทุนก็บอกกับคุณว่าถ้าคุณไม่ทำงานคุณก็ไร้ค่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่ต่อไปในระบบทุน ด้วยเหตุนี้คนแก่คนเฒ่าก็เปรียบเสมือนต้นทุนให้ลูกหลานแบกในตอนบั้นปลายชีวิต ถามย้ำอีกทีว่า แบบนี้จะเรียกว่าเป็นชีวิตได้หรือไม่?

มองเป็นภาพง่ายๆว่ามีแซนวิชอยู่ชิ้นหนึ่ง เรามีสถานะอยู่ตรงกลาง เป็นไส้แซนวิช ที่มีด้านบนเป็นเงินได้ทั้งหมด ซึ่งนายจ้างหรือนายทุนพยายามกดเงินได้เราตลอดเวลาเพื่อควบคุมต้นทุน เพิ่มส่วนต่างกำไร แต่ถ้าไม่กดก็มีวิธีทำให้มันไม่โตสารพัดรูปแบบ ส่วนด้านล่างซึ่งเป็นต้นทุนชิวิตเราก็อยู่ในมือนายทุนเช่นกัน และนายทุน(อาจจะเป็นคนเดิมหรือกลุ่มเดิม)ก็พยายามจะขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆเพื่อบีบคั้นเอาส่วนต่างกำไรจากเราอีกทอดหนึ่ง บีบคั้นเอาความมั่งคั่งจากคนตัวเล็กๆให้ไหลย้อนกลับมาเข้ากระเป๋าตัวเองให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เองที่คนส่วนใหญ่ที่ทำงานแลกเงินค่าจ้างจึงอยู่ในสภาพบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเวลาที่รัฐจะกระตุ้น GDP เขากระตุ้นตรงไหนรู้ไหมครับ?

ก็กระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยนั่นไง ทำยังไงก็ได้ให้ไก่ในฟาร์มมีความสบายใจ ให้ตายใจจนกระทั่งควักกระเป๋าออกมาจับจ่ายซื้อของกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งจะได้ไหลสู่กระเป๋านายทุน

พวกนายทุนและนักการเมืองเขารู้กลไกนี้ดีครับ เขาไม่ต้องทำอะไรเลย รอให้ผู้คนควักเงินออกมาให้ โดยมีธนาคาร บัตรเครดิต และสถาบันการเงินต่างๆสมรู้ร่วมคิดและเอื้ออำนวยในการปล้น...เอ๊ย! ดึงเงินในอนาคตของผู้คนออกมาใช้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยไม่สนว่าประชาชนจะต้องเป็นทาสหนี้ แบกหนี้ต่อไปอีกกี่ปี สุดท้ายตัวเลข GDP ก็วิ่งฉิวสมใจนายทุน

แต่ก็อย่างที่บอกล่ะครับ GDP ไม่ได้สะท้อนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง มันวัดได้แค่การผลิตสินค้า ซึ่งถ้าผลิตแล้วไม่มีใครซื้อสินค้า ตัวเลข GDP ก็ไม่วิ่ง นายทุนก็เจ๊ง แล้วใครล่ะที่ต้องควักเงินซื้อ ก็ประชาชนตาดำๆที่ถูกแปะป้ายชื่อเอาไว้เป็น ผู้บริโภคนั่นไง

และถ้าเราไม่บริโภค เขาก็มีมาตรการบีบให้บริโภคครับ พอสินค้าขายไม่ได้ ก็ปลดคนงาน ลดเงินเดือน เพื่อรักษาความมั่งคั่งส่วนเกินในกระเป๋าเขาเอาไว้ให้มากที่สุดรอเวลาจังหวะดีๆในการกอบโกยอีกครั้ง เป็นไงครับ เราโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทีนี้รู้สึกเหมือนโดนจับเป็นตัวประกันหรือยัง?

พอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกใช้งาน ผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายก็กระหน่ำผลิตสินค้าออกมา หรือถ้าผู้ผลิตสินค้ามั่นใจมากๆว่าขายได้แน่ ก็ผลิตออกมาก่อนแล้วก็สร้างอุปทานลวงขึ้นมาสูบเงินในกระเป๋าผู้คนอีกทีหนึ่ง

เหตุนี้เองที่ทำให้ทรัพยากรโลกหมดไปอย่างรวดเร็วเพราะการบริโภคที่เกินจำเป็น เพราะความกระหายความมั่งคั่งส่วนเกินของคนกลุ่มเล็กๆที่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ แถมทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องกลายเป็นขยะกลายเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ แล้วผลักภาระเรื่องขยะ เรื่องมลพิษให้สาธารณะอีกทอดหนึ่ง สุดท้ายก็มาจัดกิจกรรมรณรงค์รักโลกบังหน้าอีกทีหนึ่งเพื่อให้ประชาชนตายใจ...น่าสงสารนะครับ รวยไม่รู้จะรวยยังไงแต่ก็ยังไม่พอกันสักที

ถึงตรงนี้แล้ว ถามจริงๆว่าเรายังจะแคร์ GDP กันอีกหรือครับพี่น้อง ในหลวงท่านให้แนวทางที่เราจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ ยืนบนขาตัวเองได้ แต่อาจจะไม่ดีกับ GDP นัก และทุกวันนี้นักการเมืองกับนายทุนทั้งหลายกลับกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม สร้างค่านิยมบ้าๆบอๆ อย่างเช่นความหรูหราสะดวกสะบาย มีปัญหาอะไรก็มีคนจัดการให้หมด ทำให้เราพึ่งตนเองได้น้อยลง พึ่งนายทุนให้มากๆ ตัวเลข GDP จะได้สวยๆ เขาก็จะมีโอกาสที่จะดูดเงินเราเพื่อไปเสริมความมั่งคั่งอันล้นเกินของเขามากขึ้นไปอีก ส่วนเราก็ดันเหนื่อยกับการทำมาหากินเกินกว่าที่จะมาสนใจทางออกจากปัญหาอย่างยั่งยืนที่พระองค์ทรงหยิบยื่นให้ เสร็จแล้วก็อยู่ให้เขาบีบต่อไป จะเอาเหรอครับ?

ทั้งหมดนี้คือเกมที่เราแพ้ตั้งแต่เริ่มเล่นแล้ว และทุกคนก็ไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้ตัวเองอย่างไร เพราะมองไปทางไหนมันก็มีแต่ระบบทุน แถมความสามารถในการพึ่งตัวเองในการผลิตของเรามันก็สิ้นสภาพไปแล้ว ไม่เชื่อถามตัวเองสิว่า ทำกับข้าวได้กี่อย่าง แค่นี้ก็ไม่รอดแล้วครับ

ถ้าใครจะเริ่มต้นในแนวทางการพึ่งตัวเอง ก็ให้เริ่มที่รู้จักพอก่อนครับ ลองนั่งนิ่งๆแล้วพิจารณาดูว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาทำให้เราซื้อของเข้าบ้านมากเกินจำเป็นหรือไม่ สังเกตได้จากสิ่งของเครื่องใช้ที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่กี่ครั้งก็ถูกทิ้งให้ฝุ่นจับนั่นแหละ ถ้ามีสินค้าเหล่านี้มาก ก็แสดงว่านั่นคืออุปทานส่วนเกินที่เกิดจากการกระตุ้น GDP เป็นอุปทานลวง เป็นความต้องการลวงที่ถูกจัดสร้างขึ้นมาหลอกให้เราควักเงินซื้อ ซึ่งเมื่อไม่รู้จักพอ เราก็ต้องวิ่งไล่หาเงินมาสนองตัณหาตัวเอง สนองรับนายทุนอยู่เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้ต่อให้มีเงินมากมายมันก็ไม่มีความสุขหรอกครับ

เลิกให้เขาปั่นหัวเอาได้แล้ว ลองหันมาเริ่มผลิตอาหารทานเองในครอบครัวจากพื้นที่เล็กๆภายในบ้านเช่นการปลูกผัก(ซึ่งทุกวันนี้ ผักแพงอย่างไม่น่าเชื่อ แถมมีสารพิษอยู่มากมายด้วย) อย่าไปคิดว่ามันเล็กน้อย เพราะเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้มีกำลังใจในการพึ่งพาตนเองนี่แหละ ที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในลำดับต่อไป แล้วก็ปรับลดการบริโภคในสิ่งที่เกินจำเป็น เพราะความฟุ้งเฟ้อทั้งหลายที่เราได้รับรู้ผ่านทางสื่อทุกชนิด ก็ล้วนแล้วแต่สร้างค่านิยมที่ผิดๆในการใช้เงินให้กับเราทั้งนั้น

No comments:

Post a Comment