Thursday, January 17, 2013

มายาการแห่งค่านิยม

ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็เป็นทาสทุนไปทุกเรื่อง
ชีวิตเริ่มต้นที่ 40
ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน
ความสำเร็จของชีวิตได้มาจากการทำงานหนัก
ความร่ำรวยคือสุดยอดความสำเร็จของชีวิต
ฯลฯ

ค่านิยมเหล่านี้ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เราอยากจะเป็นจริงๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่อยากทำงาน หรือถ้าต้องทำก็ให้เป็นงานเบาๆ มีกินมีใช้โดยไม่เดือดร้อน สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวมีความสุข ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีบ้านเป็นของตนเอง มีรถ มีบ้านพักตากอากาศเอาไว้พักผ่อนสัมผัสธรรมชาติ และค่านิยมทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนในระบบทุนนิยมสรุปตรงกันตั้งแต่ยังไม่เห็นภาพรวมของสาขาอาชีพต่างๆรวมถึงทางเลือกในชีวิตว่า เราต้องหาเงินให้มากๆจะได้มีเงินมาซื้อความสุข ความสะดวกสบายใส่ตัว และนี่ก็เป็นต้นเหตุให้ทุกคนออกวิ่งแข่งกันอย่างไร้เหตุผลตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนไปจนกระทั่งสิ้นลมหายใจอย่างทุรนทุราย เพราะเราถูกสอนกันมาแบบนี้

ว่าแล้วเราก็โหมทำงานอย่างหนัก พอได้เงินมาก็ซื้อข้าวของ ทรัพย์สินอย่างที่เราคิดว่ามันจะให้ความสุข จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ตัวเองก็ต้องมาหงุดหงิดงุ่นง่านเพราะเวลา 24 ชม.ต่อวันเริ่มจะไม่พอ การงานก็บีบรัด หาเงินได้มากก็กังวลเรื่องภาษี ต้องซื้อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัย กองทุนต่างๆ ฯลฯ เพื่อหักภาษี จนกลายเป็นต้นทุนความยุ่งยากให้ตัวเองแบกไปเรื่อยๆ ทำให้ความเครียดพุ่งเป็นทวีคูณ ลูกเต้าก็ไม่มีเวลาดู พอมีเวลาอยู่กับครอบครัวหน่อย ก็ต้องหาเรื่องเหนื่อยวิ่งออกไปหาที่พักผ่อนหย่อนใจ เพราะชีวิตคนทำงานมันช่างบัดซบจริงๆ กับอีแค่หยุดพักนานๆ ก็รู้สึกผิด ว่างงานก็รู้สึกผิดว่าไม่มีคุณค่าอีก ทำงานแล้วเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นก็รู้สึกมีปมด้อย สุดท้ายแล้วดูเหมือนชีวิตก็เริ่มไม่เป็นไปอย่างที่คิดว่าจะมีความสุข มันได้กลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับอะไรที่เราอยากให้เป็น เพราะค่านิยมทั้งหลายที่สังคมเป่าหูเรามาตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีเอาไว้สอนให้ชีวิตมีความสุขครับ แต่เป็นค่านิยมที่มีเอาไว้รับใช้ระบบทุน เอาไว้รีดความสามารถ รีดแรงงาน รีดคุณค่าทุกอย่างเพื่อรับใช้ระบบทุน โดยไม่ได้สนใจเลยว่าคุณจะมีความสุขหรือไม่

ไม่เชื่อลองไปดูสิครับว่ามีการเรียนการสอนที่ไหนที่สอนให้รู้จักกลไกของระบบทุนตามที่มันเป็นจริงเหมือนทุกวันนี้บ้าง มีที่ไหนบ้างที่สอนให้เข้าใจกลไกที่นอกเหนือระบบทุนบ้าง ไม่มีนะครับ ทุกที่สอนให้ยอมจำนนต่อระบบทุน ไม่ว่ามันจะเลวร้ายยังไงก็ตาม ก็ต้องยอมรับมันให้ได้ เพราะทุกวันนี้ระบบทุนกลายเป็นทุกอย่างของชีวิตไปแล้วไม่ว่าเราจะยอมรับมันหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุที่ค่านิยมของสังคมเป็นแบบที่ว่ามานี้ ความสุขที่แท้จริงจึงหาไม่ได้จากในระบบ ความสุขที่ระบบจัดให้นั้น เป็นความสุขที่ต้องพึ่งพาคนอื่นอย่างมากด้วย เรียกว่าขนาดจะมีความสุขเรายังต้องแบกต้นทุนของตัวเอง ต้องแบกต้นทุนของคนอื่น พอจะมีความสุขแล้วต้องจ่ายค่าความสุขนั้น ถ้าไม่มีเงินก็หมดสิทธิ์ที่จะมีความสุข เล่นผูกมัดพันธนาการไปซะทุกเม็ดอย่างนี้ จะมีความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร

บางคนสามารถไปถึงจุดที่ร่ำรวยได้ สุขสบายได้ แต่ก็เป็นสุขที่เจือความเครียดอยู่ด้วย เป็นความสุขที่ต้องจ้างคนอื่นแบกทุกข์แทนให้ เพราะต้องพึ่งคนอื่นทำให้หมด

หรือพอมีคนที่ใช้ชีวิตแบบสบายๆง่ายๆ พอเพียง ก็ไปกล่าวหาว่าเขาขี้เกียจอีก ไม่ดูตัวเองว่าการดิ้นรนทำงานวันละ 8-10 ชั่วโมง เคร่งเครียดจนป่วยน่ะ มันไม่บ้ากว่าหรือไงเล่า

ความสำเร็จที่เป็นค่านิยมของสังคมอย่างแรกสุดนั้นก็คือ คุณจะต้องมีเงินมีทองร่ำรวย นั่นก็แปลว่าคุณจะกลายเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และพึ่งพาตนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ระบบทุนชอบมากเพราะคุณจะต้องจ่ายเงินเพื่อบริโภค มีอำนาจเงินแต่พึ่งพาตัวเองไม่ได้จริงๆ เป็นหมูในอวย เป็นกระเป๋าเงินให้นายทุน ทีนี้เขาก็จะผลิตสินค้าเพื่อสนองรสนิยมของคุณแบบแพงๆ ซึ่งหลายครั้งมันก็แพงโดยที่มันไม่จำเป็น เขาก็โฆษณาให้โดนๆ  สร้างค่านิยมใหม่ให้ความมีระดับของคุณ ให้คุณรู้สึกว่าซื้อแล้วจะเป็นคนพิเศษ เหมาะกับระดับของคุณ แน่นอนครับ คุณยกตัวเองขึ้นหิ้งสูงขนาดนั้นแล้วมันลงไม่ได้ ลงแล้วเสียหน้า(จริงๆไม่มีใครสนใจใครหรอกครับสังคมนี้) ก็ต้องดิ้นรนหาเงินทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตมีระดับอันจอมปลอมที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโลกน์เอาไว้ให้อย่างทุรนทุราย ดังนั้นก็อย่าไปอวดใครว่าคุณมีความสุขกว่าคนที่เขาใช้ชีวิตแบบสบายๆ เพราะสิ่งที่คุณต้องการคือเงินและสิ่งจอมปลอม ไม่ใช่ความสุขครับ

แล้วถามว่าไอ้ความใฝ่ฝันของผู้คนนั้นจะมีทางเป็นจริงได้โดยที่ใช้ต้นทุนต่ำได้หรือไม่?

เป็นไปได้ครับ เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่ความฝัน ความสำเร็จแบบสำเร็จรูปหรูหราแบบที่นักการตลาดนักโฆษณาเขาวาดเขาอุปโลกน์เอาไว้ให้ เพราะความฝันแบบนั้นมันใช้เงินเยอะโดยไม่จำเป็น และที่สำคัญคือมอมเมา ทำให้คุณพึ่งตนเองไม่ได้ อาจจะมีอำนาจเงินก็จริง แต่พึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งเงินอย่างเดียวเมื่อพึ่งตนเองไม่ได้ ชีวิตก็จะขึ้นๆลงๆตามระบบตลาด ตามระบบทุนที่มีแต่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ตามค่าเงินที่ถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คนบนโลกนี้ ตามเกมของนายทุนที่จะหลอกให้คุณควักเงินออกมาให้เขาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วถามว่าการที่เปรตครองเมือง กินรวบในทุกวงการแบบนี้คุณคิดว่ามันจะกลายเป็นสวรรค์ได้จริงๆหรือ? มันก็จะออกแนวปอบกินปอบซะมากกว่าครับ

ก่อนที่จะแก้ปัญหาหรือถามหาความสงบสุขในชีวิตจริงๆ เราต้องมองข้ามระบบเศรษฐกิจทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม(บทความทั้งหมดที่ผมเขียนนั้น ไม่ได้อ้างอิงจากทั้งสองระบบเลย) ก็ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาให้กับชีวิตทั้งนั้น เราต้องกลับมาที่พื้นฐานของชีวิตจริงๆว่า โดยสามัญที่สุดแล้ว เราดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไรไม่ให้มันทุกข์ ไม่เกิดการเบียดเบียนกัน ไม่แส่ส่ายไปกับตัณหาที่ถูกกระตุ้นจนขีดสุดจนทุกข์เร่าๆเหมือนเช่นทุกวันนี้ และคำตอบนั้นมันก็ชัดอยู่แล้วเมื่อเรามองกลับไปหาวิถีของปู่ย่าตายายของเราที่อยู่กันแบบ ผลิตเองกินเอง พึ่งตัวเอง เกื้อกูลกันแบบไม่คิดซับคิดซ้อน

แต่การที่เราจะกลับไปมีชีวิตที่เรียบง่ายได้นั้น เราก็ต้องล้างภาพมายาแห่งทุนนิยมออกจากหัวเสียก่อนเพราะ เล่ห์กลทั้งหมดที่เราดูเราเสพผ่านสื่อทั้งหลายนั้นเองที่ฉุดรั้งให้เราติดคาอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการทั้งหลายอุปโลกน์ขึ้น เป็นชีวิตในฝันที่มีราคาค่างวดต้องจ่ายและไม่ใช่จ่ายทีเดียว แต่ต้องจ่ายตลอดชีวิตเพื่อรักษาความฝันนั้นให้อยู่กับเรา ความภูมิใจและคุณค่าต่างๆที่ได้มาจากสินค้าจึงเป็นเพียงแค่ของปลอมเท่านั้น

เมื่อตื่นออกจากภาพมายาแล้ว ความดิ้นรนที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นเร้าให้บริโภคจะลดลง จากนั้นเราก็ต้องฟื้นฟูศักยภาพของตัวเราในการที่จะพึ่งพาตนเอง ทีละน้อยๆโดยไม่ต้องไปสนใจตีค่าวัดค่าอะไร ขอให้เป็นการพึ่งตนเองอย่างแท้จริงถือว่าใช้ได้แล้ว ซึ่งทุกวันนี้ วันนี้กระแสเศรษฐกิจพอเพียงได้ก่อให้เกิดศาสตร์ทางเลือกมากมายที่จะช่วยให้เราพึ่งตนเองได้โดยไม่ลำบากลำบนยากแค้น อีกทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เคยหายไปท่ามกลางกระแสทุนนิยมก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง จนเราเห็นแนวทางแล้วว่า การกลับไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมโดยปราศจากอิทธิพลของระบบทุนนั้นสามารถเป็นไปได้แล้ว ณ ปัจจุบัน

และส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องเปิดใจ ไม่ไหลตามกระแสสังคมที่นับวันจะบ้าบอหนักข้อขึ้นทุกวัน ไม่ต้องไปสนใจผู้คนทั้งหลายที่ติดบ่วงแห่งภาพมายาของค่านิยมกันอย่างงอมแงม เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความสุขอย่างที่แสดงออกเลยแม้แต่คนเดียว

No comments:

Post a Comment