Monday, May 6, 2013

การผูกขาดแฝงในระบบทุนนิยม

ว่ากันตามอุดมคติของระบบทุนนิยมแล้ว ทุนนิยมคือระบบการค้าเสรีที่ไม่มีขีดจำกัด มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเปิดเผยไม่ปิดกั้น โอกาสทางธุรกิจจึงเป็นของทุกคนไม่ว่าจะรวยจะจน และเชื่อกันว่าการแข่งขันเสรีนี่เองที่จะทำให้ไม่มีการผูกขาดขึ้นในระบบ เพราะจะมีธุรกิจหน้าใหม่ๆเข้ามาท้าชิงตำแหน่งที่หนึ่งเสมอ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อธุรกิจเติบ "ใหญ่" ถึงจุดหนึ่ง ทฤษฎีข้างต้นก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะบริษัทนั้นจะครอบคลุมปัจจัยความจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้คนไปเกือบจะหมดทุกเรื่อง ซึ่งคนในระบบทุนนั้นถูกเลี้ยงดูและสอนกันมาแบบให้พึ่งพาระบบด้วยการซื้อและบริโภคอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาบริษัทผลิตสินค้าเหล่านั้นจนเกิด "การผูกขาดแฝง" ขึ้น ชนิดที่กฏหมายทำอะไรไม่ได้ ตัวอย่างก็เช่นบริษัทผลิตปิโตรเลี่ยมและน้ำมันยี่ห้อหนึ่งที่กำลังถูกโจมตีอย่างหนักในโลกไซเบอร์นั่นเอง

นอกจากการผูกขาดแฝงในลักษณะสร้างเงื่อนไขความจำเป็นให้เกิดกับผู้บริโภคแล้ว บริษัทยักษ์เหล่านี้ก็ยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะผูกขาดช่องทางหารายได้ต่างๆ จนธุรกิจรายย่อยที่อยู่ในตลาดเดียวกันไม่สามารถยืนอยู่ได้ เช่น การบังคับขายเหล้าพ่วงเบียร์เพื่อให้เบียร์ยี่ห้อใหม่ได้เกิดในตลาด หรือ โมเดิร์นเทรดเรียกเก็บค่าวางสินค้าบนชั้นวางและรีดค่าทำโปรโมชั่นและของแถมอีกมากมาย โดยที่โมเดิร์นเทรดเหล่านี้ไม่ต้องออกเงินเลย ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยแทบจะไม่มีกำไรและไม่มีทางเลือกอื่นที่จะกระจายสินค้าของตนไปสู่ผู้บริโภควงกว้าง อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น เครือร้านอาหารใหญ่รายหนึ่งสามารถที่จะกดดันห้างสรรพสินค้าไม่ให้รับผู้ค้าที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับตนเข้ามาตั้งร้านแข่งในห้างเดียวกันได้

ซึ่งเมื่อธุรกิจเติบโตจนถึงระดับที่เรียกว่ามีอิทธิพลมากต่อตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายตามมูลค่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดแอบแฝงเพิ่มขึ้นในทุกๆด้าน ซึ่งทำให้สามารถที่จะดึงดูดยอดขาย กำไร และผลประโยชน์อื่นๆเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อวัตถุดิบจำนวนมากที่สามารถรีดราคาได้ถูกสุดๆ ช่องทางการระบายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศทำให้เกิดอำนาจในการบีบคู่ค้าและชี้นำตลาด ฯลฯ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆใครๆก็ยอมครับ เพราะถือว่าถ้าได้ทำธุรกิจด้วยจะทำให้มีเครดิต แม้ว่าจะทำไปแล้วแทบจะไม่กำไรเลยก็ตาม

การผูกขาดแอบแฝงแบบนี้ กฏหมายทำอะไรไม่ได้แม้แต่น้อยครับ เพราะมันไม่โจ่งแจ้งแบบจับได้คาหนังคาเขา ดูอีกตัวอย่างก็ได้ มีเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่รายหนึ่งที่ทำธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ได้ให้ความเห็นผ่านสื่อว่า ควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 500 บาทต่อวัน แล้วจะทำให้เศรษฐกิจดี ซึ่งพูดออกมาแบบนี้ฟังดูดีนะครับ ถูกใจชนชั้นแรงงาน แต่ถ้าบ้าจี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนั้นจริงๆ สิ่งที่เกิดก็คือ ธุรกิจรายย่อยที่อยู่ในระบบจะตายลงเพราะแบกรับภาระตรงนั้นไม่ไหว ธุรกิจระดับกลางจะลำบากจนในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่สายป่านยาวก็รอไปสักพักหนึ่ง รอจนรายย่อยตายหมด คนตกงานเป็นเบือ ก็จะทำให้เกิดการผูกขาดแอบแฝงขึ้นมาโดยอัตโนมัติทั้งสองขา ก็คือ บริษัทเหล่านี้ก็จะเรียกเงินทุนที่ลงไปในตอนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคืน ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำ กดดันให้พนักงานทำงานหนักมากขึ้น การปรับระดับเงินเดือนก็น้อยลง ลดสวัสดิการลง อีกขาหนึ่งก็คือทำให้โอกาสคัดเลือกคนงานได้มากขึ้นเพราะคนตกงานจำนวนมากเข้าคิวรอทำงานยาวเหยียด ซึ่งไอ้คิวรองานยาวๆนั่นเอง ก็จะไปกดดันคนที่ทำงานในบริษัทอีกทอดหนึ่ง ให้ขยันทำงานมากขึ้นเพื่อรักษาต่ำแหน่งงานของตนไว้ แถมยังเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองที่ไม่มีลูกจ้างคนใดกล้าหืออีก ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วครับ ไม่ใช่ที่เฉพาะเมืองไทย แต่มันเริ่มเป็นแบบนี้มานานแล้วในประเทศอเมริกา ยกตัวอย่างเช่นวอลล์มาร์ตซึ่งเป็นโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ของอเมริกา ที่ตัดสวัสดิการของพนักงานลงมาก แถมยังกล้าทำประกันชีวิตให้พนักงานโดยระบุให้บริษัทเป็นผู้รับผลประโยชน์จากความตายนั้นด้วย(เกิดขึ้นจริงนะครับ) ซึ่งความใหญ่โตของมันทำให้มีอำนาจเหนือคู่ค้า ผู้ผลิต ไปจนถึงคนงานทุกระดับชั้นอย่างแท้จริง

และบริษัทใหญ่ทั้งหลายมักจะจ้างลอบบี้ยิสต์หรือคนวิ่งเต้น ที่มีเส้นสายสามารถต่อสายตรงถึงรัฐบาลเพื่อที่จะให้เอื้ออำนวยความสะดวกในช่องทางหาเงินต่างๆได้อีกมาก เช่นการประมูลงานของราชการหรือภาครัฐทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลให้เกิดกระบวนการทุจริตอย่างกว้างขวางขึ้นในปัจจุบัน

ความใหญ่โตของบริษัทยักษ์เหล่านี้ไม่ได้มีผลกับแค่ระบบตลาดและระบบเศรษฐกิจอย่างเดียวนะครับ แต่จะแผ่อิทธิพลไปในแวดวงการเมืองที่มีผลในระดับประเทศ และแม้กระทั่งแวดวงสื่อสารมวลชนก็ไม่เว้น เรียกว่าทำอะไรก็ง่ายไปหมด ไม่มีใครกล้าแหยม จนแม้กระทั่งถึงระดับที่มีอิทธิพลแฝงเหนือกฏหมายก็มีให้เห็นมาแล้วทั้งนั้น อย่าที่อเมริกานั้นพูดได้เลยว่า ประเทศอเมริกาไม่ใช่ประเทศแล้วครับ แต่เป็นบริษัทไปแล้ว

ไม่เท่านั้นนะครับ บริษัทยักษ์ที่ทำธุรกิจซึ่งอ่อนไหวต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศมากๆ โดยเฉพาะพวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินๆทองๆทั้งหลายนั้น เช่นธนาคาร หรือบริษัทเงินทุน เวลาเกิดล้มละลายจากความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจหรือจากอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะเอาเงินภาษีของประชาชนที่ทำงานเก็บเงินกันแทบเป็นแทบตายซึ่งควรจะเอาไปพัฒนาประเทศแทน ก็เอามาอุ้มบริษัทพวกนี้เสียไม่ให้ล้ม ซึ่งเราก็เคยได้เห็นกันมาแล้วตอนวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยปี 2540 หรือล่าสุดก็วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาในปี 2552 นั่นเอง

ความสามานย์ของเหล่าบริษัทยักษ์ที่ใช้ความใหญ่โตของตนในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นกับคนในสังคมมากมาย เพราะมันเริ่มจะทำกันแบบโจ่งแจ้งไม่อายฟ้าดินกันแล้ว ณ ปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางกำลังจะล่มสลาย คนจนในประเทศที่แม้จะจนแต่ก็ยังพอจะมีข้าวกินบ้าง ก็จะได้จนจริงๆ จนแบบไม่มีอะไรจะกิน เพราะความมั่งคั่งที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ถูกบีบเค้นให้ถ่ายเทไปสู่นายทุนระดับยักษ์ใหญ่จะหมดทุกเม็ด ซึ่งการประท้วงต่อต้านก็คงไม่เกิดผลอะไรเป็นรูปธรรมแน่ๆ เหมือนมดกัดช้าง มันไม่รู้สึกกันหรอก อีกอย่างคือทุกวันนี้เราต่างก็หมดสภาพในการพึ่งตนเองเหมือนไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มปิด ที่เขาป้อนอะไรมาให้ก็ต้องกินหมด ความสามารถในการพึ่งพาตนเองตลอดจนถึงภูมิปัญญาที่จะพึ่งพาตนเองถูกลืมเลือนหายไปหมดแล้ว พอทางเลือกทางออกทั้งหลายถูกปิดลง มันก็ไม่ยากที่จะโดนเขาปิดประตูตีแมวเอาอย่างที่เห็นกันดาษดื่นในปัจจุบัน

สถานการณ์ของคนไทยในปัจจุบันสำหรับการที่จะเอาตัวรอดยังพอมีครับ ให้เริ่มศึกษาหลักเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ดีๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองเยอะๆ ศึกษาเรื่องเกษตรธรรมชาติและหาซื้อที่ดินเอาไว้เผื่อทำกินกันบ้าง โดยอาจจะรวมตัวกันเป็นหมู่คณะก็ได้ ซึ่งถ้าช้ากว่านี้อีกสักปีสองปีก็อาจจะยากแล้วครับ เพราะจุดเปลี่ยนที่นายทุนจะกินรวบประเทศไทยนั้นใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ อ่านแล้วได้ข้อคิดเยอะเลยค่ะ

    ReplyDelete