Tuesday, February 4, 2014

ปัจฉิมกาลประชาธิปไตย

พี่ใหญ่อย่างอเมริกันยังเดินลงหลุม...พี่ไทยจะเหลือเหรอครัช
 รอบที่แล้วเขียนเรื่องปัจฉิมกาลทุนนิยม มารอบนี้จะบอกว่าประชาธิปไตยล่มสลายไปเรียบร้อยแล้วเช่นกันครับ เพียงแต่เรายังไม่รู้ตัวกัน ได้แต่สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆที่เป็นสัญญาของการล่มสลายไปเรื่อยๆ โดยที่แทบไม่เชื่อว่าเราจะเดินมาถึงขนาดนี้ เช่น การเลือกตั้งปลอมๆที่มีเจตนาฟอกความผิดนักการเมือง การออกกฏหมายเอื้อพรรคพวกเพื่อนพ้องตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ฯลฯ จนทุกวันนี้เราอยู่กันแบบไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวแล้วจริงๆ เพราะสมมติบัญญัติทั้งหลายในระบอบประชาธิปไตย ได้ถูกทุนนิยมสามานย์บิดเบือนไปหมดแล้ว ซึ่งการบิดเบือนเจตนารมณ์แห่งระบอบประชาธิปไตยนี่แหละ ก็คือการทำลายกันตรงๆเลยแบบไม่อ้อมค้อม

ทีนี้เราจะอยู่กันยังไง หากไม่มีประชาธิปไตย?

อยู่ได้ครับ แต่จะอยู่ยังไง ก็ขอย้อนกลับไปที่ต้นตอปัญหาก่อนก็แล้วกัน

ปัจฉิมกาลของระบอบประชาธิปไตยนั้นเริ่มต้นขึ้นตอนที่ระบบทุนนิยมรุ่งเรืองขึ้นมานั่นเอง

เพราะโดยธรรมชาติของระบบทุนนั้น เป็นระบบเผด็จการ คือเผด็จการจากการตั้งเป้าหมาย กรอบการดำเนินงาน ผลประโยชน์ตอบแทน ชนิดที่ใครทำไม่ได้หรือไม่ตอบสนองก็มีปลดหรือลงโทษ จากการวัดประสิทธิภาพชนิดแพ้คัดออก ทุกคนถูกผูกด้วยเงื่อนไขของผลประโยชน์ตอบแทน(เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ ฯลฯ)ที่สามารถส่งผลต่อการเป็นอยู่ของตนและครอบครัว พูดง่ายๆคือเขาจับเอาเราและครอบครัวไว้เป็นตัวประกันนั่นแหละ ถ้าเขาตายเราก็ตายด้วย

ซึ่งหลักการทั้งหมดนี้ฟังดูดีเมื่อมาจากปากตัวผู้บริหาร แต่เมื่อคุณลองแตกแถวดูเอง ก็จะรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยจริงๆ มันไม่ได้ดำรงอยู่ในหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจริงๆอยู่แล้ว แม้กระทั่งในรัฐสภา หรือรัฐบาลเองก็ตามก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงเพราะมันมีผลประโยชน์แอบแฝงไปเสียทุกขั้นตอน และเขาจะเอาเงื่อนไขต่างๆที่ผูกคุณไว้กับองค์กรนั่นแหละมาเป็นตัวบีบบังคับคุณ ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริหารองค์กร หรือนายทุนเจ้าของเงิน แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนก็ตาม เอาง่ายๆว่าถ้าพิจารณาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในทางอ้อมขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ รับรองว่าไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ถูกฟ้องร้องครับ เพียงแต่เขาไม่ฟ้องกันเพราะมันจะกระทบปากท้องนั่นเอง

ในเมื่อชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ถูกผูกเอาไว้กับหน้าที่การงานซึ่งกินเวลาไปมากกว่าครึ่งของชีวิต ถูกผูกเอาไว้กับเงื่อนไขต่างๆมากมายจากการที่ต้องพึ่งพาเงินจนกลายเป็นทาส ผิดใจเจ้านายก็ไม่ได้ ผิดใจลูกค้าก็ไม่ได้ ห้ามเห็นต่าง ห้ามแตกแถว พอมาถึงเรื่องการเมืองภาคประชาชน หันขวาก็เจอประชานิยม หันซ้ายก็เจอเผด็จการรัฐสภา ข้างหน้าก็ทรราชย์ ข้างหลังก็คนจ้องจะเสียบ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วระบอบประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเรื่องของเกมแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวไป เป็นเกมที่เอาเงื่อนไขต่างๆมาผูกเงื่อนเข้าแล้วจับความเป็นอยู่ เศรษฐกิจภาคครัวเรือน และสิทธิ์ต่างๆของประชาชนเป็นตัวประกันตามแบบฉบับของระบบทุนนิยมไปเสียนี่

ยิ่งทุกวันนี้เผด็จการรัฐสภาได้นำประชาธิปไตยขึ้นมาอ้างความชอบธรรม อ้างเสียงข้างมาก อ้างประชาธิปไตย มันอ้างได้แต่เปลือกไงครับ แต่ข้างในมันกลายเป็นเผด็จการทุนนิยมไปแล้ว ซึ่งระบบทุนสามานย์เหล่านี้ก็นำไส้ในประชาธิปไตยออก เอาแต่รูปแบบมาอำพรางความฉ้อฉลของทุนนิยม ปรับเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นบริษัทของคนใดคนหนึ่ง เปลี่ยนทรัพยากรของประเทศให้เอื้ออำนวยธุรกิจของนายทุนและนักการเมืองในกลุ่มตัวเอง ใช้อำนาจเผด็จการในการเข้าถึงเงินภาษีของประชาชนที่ถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่แทบไม่มีต้นทุน ทำทุกอย่างในการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฏหมายให้เอื้อผลประโยชน์กับนายทุนในกลุ่มของตน และริดรอนสิทธิ์ของประชาชนผู้จ่ายภาษี สร้างเงื่อนไขในการรีดภาษีเพิ่มในทุกๆเรื่อง จนเราต้องจ่ายส่วยที่ไม่เต็มใจให้นักการเมืองในสังกัดทุนสามานย์เอาไปถลุงเล่นอย่างง่ายดาย ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นล่มสลายลงแล้วโดยเนื้อหา คือไม่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว มีแต่เปลือกซาก ที่นักการเมืองเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อรักษาอำนาจตนเองเท่านั้น

ประชาธิปไตยคือระบอบที่อนุญาตให้ต่างชาติปล้นทรัพยากรได้โดยเสรี
เมื่อประชาธิปไตยตายลงแล้ว เราจะแคร์อะไรอีกหรือครับ?

พูดตรงๆว่าถ้าวันนี้มีทหารออกมาปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล เราก็ไม่ต้องไปเสียใจหรือหลงฟูมฟายว่าประชาธิปไตยได้ถอยหลังลงคลองอีก เพราะประชาธิปไตยของไทยยังไม่เคยเดินหน้าไปไหนเลย แถมตายแล้วเสียอีก

ว่ากันโดยธรรมชาติของสังคมมนุษย์นั้น มันไม่มีอะไรที่สามารถจะกำหนดตายตัวได้หมดทุกเรื่อง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำหนดอะไรลงไป ตีกรอบอะไรลงไป หรือยึดอะไรสักอย่างหนึ่งมากเกินไป สังคมมนุษย์เองก็จะเกิดปัญหาขึ้น เกิดความขัดแย้งขึ้นทันที ไม่สามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและคนได้ และปัญหาที่ว่านั้นก็จะสะสมหมักหมม จนกระทั่งทำให้ระบบล่มสลายในที่สุด ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดูจุดจบของระบอบสังคมนิยม จุดจบของระบอบเผด็จการ และล่าสุดระบอบประชาธิปไตยที่ล่มสลายกันถ้วนหน้าแล้วแทบจะทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่มาบัดนี้การปกครองของอเมริกาโดยเนื้อแท้นั้น คำว่าเสรีประชาธิปไตยไม่มีแล้ว มีเพียงรูปแบบที่หลงเหลืออยู่ แต่เนื้อหากลับกลายเป็นเผด็จการทุนนิยมไปหมดแล้ว โดยมีผู้สนับสนุนหลักเป็นบรรษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่มีผลประโยชน์แอบแฝงไปทั่วโลกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้อเมริกันชนทั้งหลายจึงเป็นได้เพียงแบตเตอรี่ที่ขับดันระบบทุนเท่านั้น ขณะที่ความเป็นมนุษย์นั้นถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ ปัญหาศีลธรรม จริยธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงรุนแรงขึ้นทุกวัน เรียกว่าเลี้ยงไว้ไม่ให้ตาย แต่ก็ไม่ให้โต

โดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้นมันก็ดีอยู่...โดยอุดมคติ แต่มันไม่เหมาะกับยุคเปรตทุนนิยมครองโลกอย่างทุกวันนี้ เพราะความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบการเมืองมันไม่เคยมีจริง ใครที่จะเข้าสู่ระบบการเมืองจะต้องเป็นคนมีเงินหรืออาศัยเส้นสายของนายทุนเท่านั้น พอจะต้องอาศัยนายทุน เขาก็จะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ แล้วจะทำเพื่อประเทศชาติได้ยังไง ยิ่งมีบางประเทศนี่ทุเรศมากถึงขนาดที่ว่าทำให้ประเทศกลายเป็นธุรกิจครอบครัวไปเสียฉิบ
ชาวอเมริกันรู้ตัวแล้วว่าโดนทั้งสองพรรคต้อนเข้าคอกระบบทุนกันจนหมด

โดยสภาพของเกมการเมืองทั้งในและนอกระบบสภาทุกวันนี้ บอกตรงๆว่ามันเป็นแค่ปาหี่หลอกคนดูเท่านั้นเอง คือ ไม่ว่าใครเข้ามาบริหารประเทศ มันก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด หมายถึงเป็นเปรตกันหมดน่ะนะ

ระบบทุนที่ครอบงำประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่นี้ เป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วโดยตัวพ่อของทุนนิยมอย่างอเมริกาว่า สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มทุนได้อย่างรวดเร็วและแน่นอน แต่ดันไปสร้างปัญหาอย่างรุนแรงต่อสังคมโดยรวม และไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกต้อนเข้าระบบ The Matrix อย่างไม่เต็มใจ จนเกิดกระบวนการ Spring(ปฏิวัติประชาชน) Occupied(ยึดครองสิ่งที่ควรจะเป็นของคนส่วนใหญ่คืนมา) และ Whistle Blower(กระบวนการเปิดโปงความฉ้อฉลของรัฐและนักการเมือง) ไปทั่วโลก กลายเป็นการงัดข้อระหว่างประชาชนคนหมู่มากกับระบบทุนที่ครอบงำประชาธิปไตยอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ

ย้ำนะครับ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย ปัญหาจริงๆมาจากระบบทุนที่พยายามจะเข้าถึงอำนาจรัฐ และทุนรัฐอันมีประชาชนจำนวนมากเป็นรากฐานต่างหาก แล้วเราจะยึดติดในสมมติแห่งความเป็นประชาธิปไตยที่สังคมโลกป่วยๆยึดถือกันไปอีกนานแค่ไหน

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่าการก่อม็อบประท้วงรัฐบาลจะแก้ไขอะไรได้ในระยะยาว อย่างดีก็แค่แก้คันได้ประเดี๋ยวประด๋าว เพราะปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ที่ระบบทุนที่เข้ามายึดครองประชาธิปไตย แล้วบิดเบือนการบริหารบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยที่เป็นทุนให้รัฐบาลเท่านั้น

การที่เราจะแก้ไขปัญหาที่ว่ามานี้อย่างถาวร เราต้องล้มระบบทุนนิยมครับ ระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่ระบบเศรษฐกิจและสวัสดิการรัฐควรจะเป็นกึ่งสังคมนิยมที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน หรือไม่ก็ต้องควบคุมทุนนิยมให้มีอิทธิพลต่อชีวิตประชาชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และสนับสนุนการเข้าถึงระบบการเมืองการปกครองอย่างเท่าเทียม เพื่อกีดกันระบบทุนออกไปให้พ้นจากระบอบการปกครองให้หมด

อีกอย่างคือเราต้องทิ้งคตินิยมเกี่ยวกับความมั่งคั่งที่โลกนี้ยกย่องนับถือทิ้งไปให้หมด เพราะมันเป็นไปเพื่อกระตุ้นการขายและเป็นความมั่งคั่งของนายทุนส่วนน้อยเท่านั้น

แม้แต่ินิวซีแลนด์เองก็โดนเช่นกันครับ
ในการนี้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานหลักเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ให้ประชาชนก็เพราะท่านล่วงรู้มานานแล้วว่า ระบบทุนนิยมพยายามจะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่บนโลกกลายเป็นทาสแรงงานและกลายเป็นลูกค้าผู้บริโภคหรือตัวปั๊มเงินให้นายทุน โดยขโมยชีวิตอันสงบสุขของผู้คนไปจนหมด เพราะระบบทุนคือระบบทาสแบบใหม่ที่อำพรางตัวเองมาอย่างแนบเนียน เข้ามาขโมยอิสรภาพที่เราเคยมีต่อวิถีชีวิตเรา ต่อความเป็นอยู่เรา เอาทุกอย่างในชีวิตของเราไปฉ้อฉลจนเกิดความทุกข์ยากไปทั่วโลก มันดูดีแค่เปลือก แต่ในความเป็นจริงกลับหลอกให้ผู้คนเต็มใจที่จะตกเป็นทาส ด้วยผลประโยชน์ตอบแทนนิดๆหน่อยๆ พอเลี้ยงไม่ให้ตาย แถมด้วยยากล่อมประสาทที่ถูกยิงผ่านสื่อต่างๆ จนผู้คนต่างเคลิบเคลิ้มหลงลืมชีวิตยากแค้นลำเค็ญของตนไปชั่วครั้งคราว

ถ้าไม่เชื่อก็ลองปิดหูปิดตาจากสื่อกระแสหลักสักพักสิครับ แล้วมองดูชีวิตตัวเองและครอบตรัวว่าทุกวันนี้มันอยู่กันยากขึ้นไหม ลำบากมากขึ้นไหม บีบคั้นมากขึ้นไหม นั่นแหละคือคำตอบที่ใครก็โกหกคุณไม่ได้

พูดตรงๆว่าทุกวันนี้เราอยู่กันยากขึ้นในทุกระดับ แม้กระทั่งคนร่ำรวยเองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นเพราะเมื่อสังคมมันบีบคั้น อาชญกรรมก็เลยมากขึ้นตามไปด้วย ธุรกิจการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจึงทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไปถามคนมีเงินมากๆสิครับว่าถ้าไม่มีกล้องวงจรปิดติดที่บ้านจะนอนหลับไหม

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วเหมือนจะสิ้นหวัง แต่ไม่สิ้นหวังหรอกครับ เพราะผิดหวังจนเลิกหวังมานานแล้ว ตอนนี้ก็เลยไม่หวังที่จะพึ่งอะไรอีกนอกจากตัวเอง

ประชาธิปไตยคือระบอบที่เรามอบอำนาจให้เผด็จการด้วยความเต็มใจ
แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจประเทศอื่นๆที่คอยท้วงติงหรือให้ความเห็นหรอกนะครับ ไม่ต้องกลัวด้วยว่าถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตยแบบเขาแล้วเขาจะไม่คบเรา เพราะการเปิดเสรีทางด้านการค้าการลงทุนในขณะที่เรามีอำนาจและศักยภาพด้านต่างๆด้อยกว่าคนอื่น เราก็เป็นได้แค่โสเภณีที่พยายามจะเรียกแขกนั่นล่ะครับ ความเท่าเทียมกันมันไม่มีหรอก มันจะชำเราเอาอย่างเดียว เพราะตอนนี้ประเทศที่ชื่อว่าพัฒนาแล้วเหล่านั้น ก็ย่ำแย่เพราะตัวเองเหมือนกัน ไม่ต้องไปสนใจมันหรอก เมื่อก่อนเราก็อยู่กันได้นี่จริงไหม

แล้วระบอบการปกครองแบบไหนที่จะมาแทนที่ในระหว่างการล่มสลายนี้ คำตอบก็คือ ธรรมาธิปไตย ครับ คือการปกครองโดยธรรม เป็นระบอบที่จะไม่มีอำนาจรวมศูนย์ให้ฉ้อโกงได้เหมือนในปัจจุบันอีกต่อไป แต่อำนาจที่เคยรวมศูนย์จะไปกลับคืนสู่ประชาชนและชุมชนเล็กๆของตน และเป็นเหตุให้นักกาเมืองและระบบการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันสิ้นอำนาจลงในที่สุด ความกดดันในชีวิตผู้คนที่บีบให้ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายก็จะหมดไปด้วย นี่คือการปฏิรูปที่แท้จริงที่เริ่มขึ้นแล้วอย่างเงียบๆในภาคประชาชน และไม่ใช่การปฏิรูปเพื่อกลับไปเหมือนเดิม ส่วนที่เห็นเป็นปรากฎการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน(2556-2557) นั้น เป็นแค่แรงกระเพื่อมของการเปลี่ยนผ่านเท่านั้นยังไม่ใช่ของจริง

อันนี้ไม่ได้เฟ้อฝันนะครับ มีสัญญาณมาแล้วจากภาคประชาชนในบางภาคส่วน ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่เป็นนิมิตรหมายที่ดี ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาก่อรูปร่างของระบอบอีกพักใหญ่ แต่คงจะไม่เร็วนัก อาจจะใช้เวลถึง 2-3 ชั่วอายุคนเลยทีเดียว ระหว่างนี้ก็อดทนรอให้ระบบทุนมันล่มสลายล้างตัวมันเองถึงที่สุดไปพลางๆก่อนก็แล้วกัน

3 comments:

  1. ยากครับ ที่จะสร้างกระแสพอเพียงบนโลกาภิวัตรทุนนิยม

    ภูฎาน จีน ยังสวนกระแสนี้ไม่ได้เลย

    คนมีกิเลสครับ เห็นคนอื่นมีไอโฟนก็อย่ากได้ แล้วอินเตอร์เนตทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มันเอื้อกับตลาดทุนนิยม

    ที่ทำได้คงต้องเป็นตลาดทุนนิยมแบบควบคุม ผสมรัฐสวัสดิการ ภาษีจั้ขั้นบันไดนี่เห็นด้วยครับ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากทุนนิยม และช่วยเหลือคนด้อยโอกาสให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

    ReplyDelete
    Replies
    1. ภูฏาน กับ จีนเขาไม่ได้มีพระสัจธรรมนำทางน่ะครับก็เลยไม่รู้จักพอ อย่างเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังขาดสิ่งที่เป็นหัวใจหลักก็คือ พระสัจธรรมนี่ล่ะ

      จังหวะนี้เหมาะที่จะผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงแล้วครับ เพราะทุนนิยมใกล้ล่มสลายเต็มทีแล้ว รอให้มีตัวอย่างเด่นๆขึ้นมา ผมว่าจะมีคนเดินตามมามากมายครับ

      Delete
  2. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete