Thursday, August 7, 2014

บทคัดย่อหนังสือ: End of the Line / ความรุ่งและความล่มของบริษัทข้ามชาติ


เกริ่นก่อนอ่าน: บทคัดย่อหนังสือเล่มนี้ผมคัดลอกมาจากบทคัดย่อที่แนะนำโดย ดร.ไสว บุญมา เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าบริษัทข้ามชาติในทุกมิติของสังคม จะได้เข้าใจว่ามันกลายเป็นทุนสามานย์ได้ยังไง และทุนนิยมมาถึงขีดจำกัดก่อนที่จะเสื่อมสลายไปยังไง ผมจะไม่ตัดสินอะไรนะครับ ผู้อ่านที่ติดตาม ปศุสัตว์เมืองใหญ่ มาโดยตลอดน่าจะเข้าใจเส้นสนกลใดของทุนนิยมกันอยู่แล้วประมาณหนึ่ง
----------------------------------------------------
End of the Line / ความรุ่งและความล่มของบริษัทข้ามชาติ
(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

การส่งงานไปทำนอกองค์กร (Outsourcing) และการควบรวมกิจการซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทต่าง ๆ นิยมกระทำกันจนทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการกระจายรายได้ไปทั่วโลก แท้ที่จริงแล้วเป็นกลยุทธ์ที่ดีหรือไม่และมันส่งผลกระทบกับบริษัทและโลกอย่างไร  Barry C. Lynn อดีตบรรณาธิการอาวุโสของนิตยสาร Global Business และนักเขียนของวารสาร The Harvard Business Review มีคำตอบให้ในหนังสือชื่อ End of the Line: The Rise and Coming Fall of the Global Corporation หนังสือขนาด 312 หน้าซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2548 เล่มนี้ 1) พูดถึงการเกิดของระบบเศรษฐกิจโลกแนวใหม่ซึ่งก่อให้เกิดภยันตรายต่อชาวอเมริกันและชาวโลกโดยรวม  2) อธิบายว่าเหตุใดระบบการค้าเสรีที่รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุดทำให้ประชาชนห่างไกลจากความเป็นอิสระและความปลอดภัย  3) เล่าถึงสาเหตุที่รัฐบาลหันเหไปจากนโยบายชาติซึ่งสร้างขึ้นด้วยความยากลำบากสู่มือของตลาด  4) เล่าเรื่องราวของการยุติลงของกลยุทธ์ที่ประกันความกินดีอยู่ดีของชาวอเมริกันและความเป็นอิสระของสหรัฐฯ

ในปัจจุบันแผ่นดินไหวเพียงแค่ 60 วินาทีในไต้หวันก็สามารถทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก  วิลเลม โรลันทส์ ประธานผู้บริหารของบริษัทซิลิงซ์ซึ่งออกแบบสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า (semiconductor) พบว่าแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2542 ในไต้หวันทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน ทั้งนี้เพราะตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ออกแบบและผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าสำหรับโรงงานทั่วโลก  เมื่อขาดอุปกรณ์สำคัญจากโรงงานนี้ พนักงานโรงงานกว่าพันคนในสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องหยุดงาน  นักลงทุนในตลาดก็ลดการลงทุนในบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการหยุดผลิต  ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้า  เหตุใดสหรัฐฯ จึงยินยอมให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบ้าน ทั้ง ๆ ที่ย้อนไปในอดีตการผลิตเป็นนโยบายความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของประเทศ  นอกจากนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้สูญเสียเงินและผู้คนไปมากมายเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาจะเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าที่สำคัญที่สุดในโลก  แต่เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันพวกเขาดำเนินนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและบริการแตกต่างไปจากนโยบายเดิมอย่างสิ้นเชิง

ธรรมชาติของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ในอดีตนั้น บริษัทผลิตชิ้นส่วนจะตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานประกอบรถยนต์ และค่าแรงของบริษัทจีเอ็มซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์รายใหญ่ก็ถูกใช้เป็นมาตรฐานของค่าแรงทั่วประเทศ  หลังจากที่บริษัทจีเอ็มขาดทุนในปี 2534 ผู้บริหารใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงบริษัทครั้งใหญ่ด้วยการบีบบังคับให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนต้องรับผิดชอบต่อวิศวกรรมการผลิตและบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้  นอกจากนี้บริษัทยังได้กระจายการผลิตชิ้นส่วนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกยังผลให้ต้นทุนของบริษัทลดลงถึงสี่พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงปีเดียว   บางคนถึงกับตั้งสมญานามการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ทั้งนี้เพราะวิธีการนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมทั่วสหรัฐฯ และยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นโยบายการเมืองต่อวิธีการทำการค้าเปลี่ยนไปด้วยจึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดของกลยุทธ์ทางการเมืองที่ที่ดำเนินสืบต่อกันมาหลายสิบปีด้วย

บริษัทฟอร์ดผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของสหรัฐฯ เป็นต้นกำเนิดของการผลิตทีละจำนวนมากส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าลดลงและทำให้วิถีชีวิตของชาวอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากชาวนาชาวไร่กลายเป็นแรงงานในโรงงานจนทำให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นในสังคมและเกิดการกระจายอำนาจตามมา  ดังนั้นช่วงเวลาระหว่างปี 2493-2512  จึงถือเป็นยุคทองของสหรัฐฯ จวบจนกระทั่งถูกโจมตีโดยสินค้าจากญี่ปุ่น  เมื่อประธานาธิบดีบิล คลินตันเข้าบริหารประเทศ เขาพบว่าญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายปกป้องตลาดของตนเองและยังบิดเบือนระบบการค้าโลกด้วย   ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เขาใช้นโยบายปกป้องผลประโยชน์ของคนในชาติด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากร  แต่คลินตันกลับมิได้กระทำการใด ๆ เพราะเขาเห็นว่าญี่ปุ่นมิได้คุกคามสหรัฐฯ ซ้ำยังผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีราคาถูกมาป้อนให้ด้วย  นโยบายของคลินตันมาจากแนวคิดของโรเบอร์ต ไรช์ ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ The Work of Nations ว่ารัฐควรมีบทบาทเพียงแค่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาเท่านั้น มิใช่ให้รางวัลกับบริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพด้วยนโยบายปกป้องทางการค้า  แต่ในที่สุดสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้นโยบายเช่นเดียวกับญี่ปุ่น  ข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือจึงถือกำเนิดขึ้น  แม้ว่าข้อตกลงนี้จะมีชื่อว่าข้อตกลงการค้าเสรีแต่เนื้อหาที่แท้จริงกลับเป็นเครื่องมือในการปกป้องทางการค้า ทั้งนี้เพราะมันมีพื้นฐานมาจากความคิดที่ว่ายุโรปและญี่ปุ่นต่างปกป้องการค้าในเขตแดนของตน สหรัฐฯ จึงควรปกป้องการค้าของตนเองเป็นการตอบโต้  นอกจากนั้นข้อตกลงนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับคนรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ทราบว่า รัฐบาลมิได้มีแผนเพียงแค่ให้พวกเขาขายสินค้าไปยังต่างประเทศเท่านั้นยังส่งเสริมให้พวกเขาขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย

แท้ที่จริงแล้วความต้องการทำธุรกิจกับต่างประเทศของชาวอเมริกันมีมาตลอดประวัติศาสตร์  สหรัฐฯ เริ่มทำการค้ากับจีนครั้งแรกหลังการสิ้นสุดสงครามประกาศอิสรภาพ  เมื่ออังกฤษชนะจีนในสงครามฝิ่นในปี 2383 สหรัฐฯ ก็ได้ทำข้อตกลงระหว่างประเทศกับจีนด้วยเช่นกัน  หลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 การค้ากับจีนยิ่งถูกโหมกระพือขึ้นจากการที่สหรัฐฯ มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากจึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ๆ  ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในยุคปัจจุบันเริ่มต้นในปี 2514 เมื่อเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ เดินทางไปยังปักกิ่ง  ช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ จำเป็นต้องหันมาสร้างความสัมพันธ์กับจีนเพราะเกรงกลัวสหภาพโซเวียตและสงครามนิวเคลียร์  โครงการของบริษัทจีปผู้ผลิตรถยนต์เชอโรกีจึงเป็นโครงการนำร่องของบริษัทสัญชาติอเมริกันเพื่อทดสอบว่าโรงงานของพวกเขาสามารถที่จะไปกันได้กับแรงงานชาวจีนหรือไม่  ในที่สุดบริษัทจีปก็เรียนรู้ว่าจีนยังคงขาดศักยภาพในทุก ๆ ด้านและจีนมีวัฒนธรรมและนโยบายที่แตกต่างจากโลกตะวันตกมากส่งผลให้บริษัทขาดทุนมหาศาล

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทรถยนต์ทั้งหลายพยายามเข้าไปทำธุรกิจในจีนนั้น บริษัทสัญชาติอเมริกันอีกส่วนหนึ่งก็มีแหล่งผลิตในจีนเช่นกัน แต่บริษัทเหล่านี้กลับมิเคยต้องย่างกรายเข้าไปในแผ่นดินใหญ่เองเลย  ความลับของพวกเขาก็คือการสร้างบริษัทข้ามชาติและสร้างฐานการผลิตในจีนโดยปราศจากความเสี่ยงด้วยการจ่ายเงินให้กับชาติที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางซึ่งก็คือไต้หวันนั่นเอง  ความสำเร็จของบริษัทสัญชาติไต้หวันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบริษัทญี่ปุ่น  ชาวไต้หวันทราบตำแหน่งของตนเองในห่วงโซ่แห่งคุณค่าเป็นอย่างดี (value chain) นั่นคือ ตำแหน่งระหว่างจุดต่ำสุดหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากเช่นจีนและจุดสูงสุดหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเช่นสหรัฐฯ  ความสำเร็จของไต้หวันเป็นผลมาจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้อันเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ มีเป้าหมายใช้ไต้หวันเป็นตู้โชว์เพื่อพิสูจน์ว่าประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ก็สามารถมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน  รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยไต้หวันเขียนกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ส่งเสริมการนำเข้า ให้เงินทุนสนับสนุนบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในเกาะแห่งนี้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าอีเล็กทรอนิกส์และจ่ายค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษาชาวไต้หวันที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  นโยบายนี้ในช่วงระหว่างปี 2539-42  เป็นกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทของทั้งสามชาติคือ ไต้หวัน จีนและสหรัฐฯ ยังผลให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์จนไต้หวันและจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนเศรษฐกิจของชาติตะวันตกจะพังทลายจนก่อให้เกิดกลุ่มการค้าในช่วงระหว่างปี 2533-36 นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ มั่นใจอย่างยิ่งยวดว่าเหตุการณ์ชนิดนี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันเชื่อว่าตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าการที่รัฐยื่นมือเข้าไปแทรกแซงแม้ว่าระบบตลาดเสรีอาจทำให้พวกเขาต้องสังเวยด้วยหน้าที่การงานหรือถูกคุกคามจากคู่แข่งก็ตาม  ยิ่งไปกว่านั้นการที่รัฐบาลสหรัฐฯ มิได้คัดค้านการกระจายตัวของกิจกรรมทางธุรกิจเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลกซ้ำยังสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ เคลื่อนย้ายการผลิตออกไปยังประเทศอื่นเป็นเพราะกลยุทธ์นี้เข้ากันได้ดีกับกลยุทธ์ทางด้านความมั่นคงของชาติ

แท้ที่จริงแล้วทัศนคติของชาวอเมริกันต่อการค้าซับซ้อนกว่าที่พวกเขาแต่งแต้มให้ชาวโลกดูมากนัก ทั้งนี้เพราะนโยบายการค้าเสรีของสหรัฐฯ เป็นผลมาจากทฤษฏีของอดัม สมิทซึ่งมิได้มีเป้าหมายเพียงแค่ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของอเมริกาเหนือเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางสังคมด้วย  อย่างไรก็ดีแนวทางการค้าเสรีในช่วงต้นยังคงเกี่ยวข้องเฉพาะด้านการเมืองเท่านั้นเพราะชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในสมัยนั้นคิดกันว่ามันเป็นการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างผู้ผลิตที่ต้องการความคุ้มครองจากรัฐและเกษตรกรซึ่งต้องการสินค้าเข้าราคาถูกและต้องการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ  มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องการค้าเสรีมีความสัมพันธ์กับเรื่องของศีลธรรม

การค้าเสรีเริ่มถูกนำมาเกี่ยวโยงกับเรื่องของศีลธรรมในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) อันเป็นผลมาจากการที่พรรคเดโมแครตต้องการแยกคนงานที่ทำงานในโรงงานออกจากพรรครีพับลิกัน  พรรคเดโมแครตจึงส่งเสริมให้เกิดกฎหมายแรงงานขึ้นโดยอ้างกับคนงานว่าการที่เศรษฐกิจถดถอยเป็นผลจากนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในซึ่งทำให้แรงงานสูญเสียงานในที่สุด  แท้ที่จริงแล้วนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในมีมาตั้งแต่สมัยสงครามประกาศอิสรภาพแล้ว  จากนั้นมานโยบายของทุกรัฐบาลก็เน้นไปที่การสร้างเศรษฐกิจแบบปิดด้วยการสร้างกำแพงภาษีส่งผลให้อุตสาหกรรมภายในเติบโตอย่างรวดเร็ว  และนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในนี่เองที่ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมต่างแข่งขันกันสะสมอาวุธสงครามเพื่อปกป้องตนเองจนกลายเป็นจุดกำเนิดของสงครามโลกในเวลาต่อมา

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ พยายามสร้างความเข้มแข็งทางด้านการทหารเพื่อให้สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพโซเวียตด้วยความหวังที่จะถ่วงดุลอำนาจ  นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังพยายามสร้างระบบที่ประกันการกระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรมและความเป็นอิสระในระดับบุคคลเพื่อมิให้ประเทศต่าง ๆ หันไปเป็นมิตรกับสหภาพโซเวียตที่เรียกว่า Marshall Plan  แผนงานนี้คือการให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเงินทุน อาหาร และเทคโนโลยีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงครามเพื่อให้พวกเขามีศักยภาพมากพอที่จะป้องกันภัยคุกคามทั้งจากเยอรมนีและสหภาพโซเวียต  นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังหวังว่าเมื่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีระบบการค้าเสรีและสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ อีกต่อไป

ในช่วงเวลาเดียวกันสหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นด้วยเพราะจีนซึ่งเคยเป็นตลาดใหญ่ของญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้ว  ญี่ปุ่นจึงขาดตลาดส่งออก  ดังนั้นในช่วงระหว่างปี 2493-96 สหรัฐฯ จึงมีนโยบายสลายฐานอำนาจของยุโรปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นตลาดของบริษัทญี่ปุ่น และเพิ่มสิทธิให้กับบริษัทญี่ปุ่นในการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมทั้งสามารถเข้าไปทำการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไม่จำกัดโดยที่ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องเปิดตลาดของตนเองเป็นการตอบแทน  นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติต่อมาอีกหลายปีเพื่อประกันความจงรักภักดีของญี่ปุ่นในการต่อต้านสหภาพโซเวียต  ผลของนโยบายนี้ทำให้บริษัท RCA ผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่สัญชาติอเมริกันได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะรัฐบาลใช้กฎหมายห้ามการผูกขาดบีบบังคับให้บริษัทถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักของบริษัทให้กับญี่ปุ่น ซ้ำร้ายรัฐบาลยังลดภาษีศุลกากรเพื่อให้วิทยุและโทรทัศน์นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลงอีกด้วยเพราะรัฐบาลคิดว่าการทำเช่นนี้ให้ผลดีกับประเทศโดยรวมมากกว่า  หลังปี 2523 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็สรุปว่าญี่ปุ่นมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ ในทุก ๆ ด้าน  พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องเห็นโตเกียวเป็นภัยคุกคามอีกต่อไป  จากนั้นมารัฐบาลก็ขาดความใส่ใจต่อปัญหาที่บริษัทญี่ปุ่นคุกคามสหรัฐฯ

  การที่รัฐบาลสหรัฐฯ คิดว่าการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดอาจเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องนัก  รัฐบาลสหรัฐฯ ยินยอมให้ยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่มศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมของตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่พวกเขาก็ทราบดีว่าอุตสาหกรรมของตนถูกคุกคาม ทั้งนี้เพราะในช่วงสงครามเวียดนาม โรงงานของสหรัฐฯ ขาดความสามารถในการผลิตอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศอื่น ซ้ำร้ายนโยบายการให้ความช่วยเหลือที่พวกเขาดำเนินอยู่ก็ไม่สามารถเปิดเผยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนด้วยจึงทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของนโยบายการค้าและนโยบายต่างประเทศมากนัก

รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มกำหนดรูปแบบและชี้นำบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างจริงจังในช่วงต้นของสงครามเย็นโดยมีเป้าหมายที่จะให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศด้วยการให้เงินสนับสนุนทั่วไป ยกเว้นภาษีกำไรที่นำกลับมาจากต่างประเทศรวมทั้งลดภาษีศุลกากร  บริษัทข้ามชาติที่มีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของเหล่านี้ก็เต็มใจที่จะขายความคิด เทคโนโลยีและวิธีการผลิต รวมทั้งควบรวมกิจการในแนวตั้งเพราะสหรัฐฯ ขาดแคลนทั้งวัตถุดิบและแรงงานราคาถูก  นโยบายนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทสัญชาติอเมริกันจึงได้กลายเป็นผู้กำหนดวิธีการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศและกระจายความมั่งคั่งสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  แต่เมื่อบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น ผู้จัดการของบริษัทกลับเห็นว่ากลยุทธ์ที่พวกเขาดำเนินการอยู่มีประสิทธิภาพมากพอแล้วและไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซง  แนวคิดใหม่นี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบริษัทที่เคยเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลกในอดีต

แม้ว่านโยบายของรัฐและกลยุทธ์ของบริษัทจะไปกันได้ด้วยดี แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับได้รับความเดือดร้อน  ซ้ำร้ายแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับนักลงทุนมากกว่า   ดังนั้นรัฐบาลจึงควบคุมบริษัทต่าง ๆ น้อยลงไปอีก  ร้ายที่สุดก็คือการควบคุมการบริหารบริษัทได้ถูกเปลี่ยนมือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไปยังกลุ่มนักลงทุนจึงส่งผลกระทบต่อสังคมอเมริกันโดยรวมด้วย  นั่นหมายความว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ละทิ้งหน้าที่ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศรวมทั้งยังทำให้โครงข่ายทางด้านการเมืองและการค้าที่ถูกหล่อหลอมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษตกอยู่ในมือของนักลงทุนจนทำให้ประเทศสูญเสียความมั่นคงไป

วิวัฒนาการทางด้านการส่งของ (logistics)  เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้การค้าเสรีในแนวทางของสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว  บริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องนี้คงไม่ใครล้ำหน้าไปกว่าบริษัทคอมพิวเตอร์เดลล์  ข้อมูลบ่งว่าในปี 2537 บริษัทคอมพิวเตอร์เดลล์สามารถขายสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 52% และยังเพิ่มขึ้นอีก 40% ในปีต่อมาและกำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้นถึง 92% ภายในเวลาเพียงปีเดียวส่งผลให้เดลล์กลายเป็นวีรบุรุษของทศวรรษใหม่  ความสำเร็จของบริษัทเป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถลดสินค้าคงคลังลงเหลือเพียง 35 วันในปี 2538 และเหลือเพียงแค่ 6 วันในปี 2542 เปรียบเทียบกับบริษัทคอมแพคซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์คู่แข่งที่มีสินค้าคงคลังถึง 110 วัน  ความสามารถในการลดสินค้าคงคลังนี้เป็นผลมาจากความสามารถในการบริหารและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จนทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีความทันสมัยที่สุดได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าบริษัทอื่น  ผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จของบริษัทเดลล์เป็นผลมาจากอิสรภาพ 3 ประการที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่นั่นคือ อิสรภาพทางด้านการเมืองที่จะทำให้บริษัทสามารถทำธุรกิจกับชาติใดก็ได้ อิสรภาพต่อความรับผิดชอบต่อสังคม และอิสรภาพทางด้านเทคโนโลยีซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าได้สะดวกและรวดเร็ว

นอกจากบริษัทเดลล์แล้ว วอลมาร์ทก็เป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อีกบริษัทหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จจากวิวัฒนาการของระบบส่งของ  แซม วอลตันผู้ก่อตั้งบริษัทวอลมาร์ทเป็นคนแรก ๆ ในโลกที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าบริหารจัดการสินค้าจึงทำให้บริษัททราบว่าสินค้าใดควรอยู่ที่ใดในเวลาใดส่งผลให้พวกเขาขายสินค้าได้มากกว่าคู่แข่ง ไม่ขาดโอกาสในการขาย ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าคงคลังมาก สินค้าคืนน้อยและทำให้ผู้บริหารมีอำนาจเหนือลูกจ้างและผู้ผลิต  ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากวอลมาร์ทยังทำให้บริษัทคู่ค้าต่าง ๆ ได้ข้อมูลลูกค้าที่ซื้อสินค้าของตนจึงทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการได้ดีขึ้น  วอลมาร์ทกลายเป็นทั้งหน้านายและผู้อำนวยการของข้อมูลและขบวนการส่งผลให้บริษัทมีอำนาจเหนือบริษัทคู่ค้าที่ส่งสินค้าให้หรือผู้ผลิต ทั้งนี้เพราะวอลมาร์ทสามารถล่วงรู้ข้อมูลรายละเอียดทุกขบวนการในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของบริษัทคู่ค้าที่ส่งสินค้าให้หรือผู้ผลิต จึงทำให้วอลมาร์ทสามารถเปรียบเทียบบริษัทคู่ค้าที่ส่งสินค้าให้หรือบริษัทผู้ผลิตแต่ละรายได้ด้วย

บริษัทโตโยต้าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นก็เป็นต้นกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตที่สำคัญ  แทนที่พวกเขาจะสร้างเครื่องมือหนึ่งชนิดเพื่อผลิตชิ้นส่วนแบบเดียวเช่นเดียวกับบริษัทฟอร์ดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติอเมริกัน พวกเขากลับสร้างเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นทำให้เครื่องมือเพียงตัวเดียวสามารถผลิตชิ้นส่วนได้หลากหลายมากกว่าและทำให้บริษัทสามารถผลิตเฉพาะชิ้นส่วนที่กำลังจะใช้จึงเท่ากับเป็นการลดสินค้าคงคลังและต้นทุนลงไปในตัว  นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังไม่นิยมให้บริษัทที่เป็นฐานการผลิตนอกประเทศทำงานด้านการวิจัยและออกแบบด้านวิศวกรรมจึงทำให้เทคโนโลยีที่สำคัญยังคงอยู่ในประเทศโดยไม่ถูกถ่ายทอดไปให้กับประเทศที่เป็นฐานการผลิต   ส่วนบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ขยายตัวไปยังตลาดต่างประเทศมักใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น พวกเขานิยมถ่ายโอนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมให้กับประเทศที่เป็นฐานการผลิตและอาศัยวิศวกรท้องถิ่นออกแบบขบวนการผลิตและพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ให้แล้วส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐฯ  บริษัทสัญชาติอเมริกันจึงกลายเป็นผู้จัดตั้งระบบปฏิบัติการที่ต้องพึ่งพาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  หลังปี 2529 ผู้ผลิตอเมริกันจึงตระหนักว่าพวกเขาได้พัฒนากลยุทธ์ที่สำคัญให้กับบริษัทคู่แข่งสัญชาติอื่น ๆ ไปเสียแล้ว
นอกจากวิวัฒนาการทางด้านส่งของจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว การจ้างคนอื่นทำหรือการส่งงานไปทำนอกบริษัท (outsourcing) ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่พวกเขานิยมกระทำ  ผู้เขียนยกบริษัทซิสโกมาเป็นตัวอย่าง  ซิสโกเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วมากอันเป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งโดยใช้นโยบายการควบรวมกิจการและการส่งงานไปทำนอกบริษัททั้งหมดโดยบริษัททำหน้าที่เพียงแค่ควบคุมการตลาดเท่านั้น  นโยบายการส่งงานไปทำนอกบริษัททำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ระหว่าง  900-1,300 ล้านดอลลาร์ บริษัทจึงมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 26 เท่าจาก 714 ล้านดอลลาร์เป็นหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงแค่ 6 ปีและในเดือนมีนาคม 2543 มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 5.3 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทเอ็กซอนโมบิล จีอีและจีเอ็มเสียอีก

อย่างไรก็ดีการส่งงานไปทำนอกบริษัทกลับส่งผลกระทบต่อสหภาพแรงงานในแต่ละบริษัท ทั้งนี้เพราะงานหลักของสหภาพแรงงานคือการปกป้องการลดค่าจ้างหรือผลประโยชน์ที่พนักงานควรได้รับและการพยายามรักษางานของบริษัทให้คงอยู่ภายในบริษัทเพื่อป้องกันการเลิกจ้างหรือลดทอนอำนาจในการต่อรองของพนักงาน  เมื่อพนักงานของบริษัทเหล่านี้เกษียณ จำนวนพนักงานในบริษัทจึงลดลงส่งผลให้บริษัทมีอำนาจต่อรองในการนำงานไปทำนอกบริษัทมากขึ้นยังผลให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก  แต่ผลของการส่งงานไปทำนอกบริษัททำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันขาดทักษะในการผลิตซึ่งตรงกับที่ไมเคิล อี พอตเตอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านการตลาดให้ข้อคิดเกี่ยวกับผลเสียของการส่งงานไปทำนอกบริษัทไว้ว่า ผู้รับจ้างผลิตอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญในอนาคตเพราะกำแพงที่ขวางกั้นการเข้าเป็นผู้ประกอบการใหม่พังทลายลง ซ้ำร้ายอุตสาหกรรมที่เคยแข่งขันกันทางด้านคุณภาพและบริการอาจกลายมาเป็นแข่งขันกันที่ราคาจนทำให้บริษัทตอบสนองต่อราคาของผู้ผลิตภายนอกมากขึ้นและทำให้บริษัทขาดความสามารถที่จะควบคุมธุรกิจของตนเอง  นั่นหมายความว่า การส่งงานไปทำนอกบริษัทอาจเป็นกลยุทธ์ที่คุกคามบริษัทในอนาคตเพราะการส่งงานไปทำนอกบริษัทเท่ากับเป็นการสร้างคู่แข่งขึ้นในตัวด้วยเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทอนุญาตให้บริษัทอื่นผลิตส่วนประกอบที่สำคัญของสินค้าหรือบริการและยังมีอำนาจในเรื่องของราคาด้วย  วิธีการที่บริษัทในอดีตส่วนใหญ่ทำกันก็คือ ไม่อนุญาตให้บริษัทรับจ้างผลิตรู้เรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมหลักของบริษัทมากนักและไม่ยอมให้บริษัทรับจ้างผลิตติดต่อกับลูกค้าโดยตรง

แม้ว่าการส่งงานไปทำนอกบริษัทจะเป็นกลยุทธ์ที่มีข้อเสีย แต่มันยังคงเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทสัญชาติอเมริกันชื่นชอบต่อไป ทั้งนี้เพราะพนักงานชาวอเมริกันมักไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับองค์กรนอกเหนือไปจากเวลางาน  ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายและวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ก็มิได้บีบบังคับให้บริษัทต้องจัดเตรียมสิ่งใดให้กับพนักงานนอกเหนือไปกว่าค่าแรงรายวัน  ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวล  เมื่อสหภาพแรงงานได้ร่วมกับรัฐกำหนดผลประโยชน์ที่พนักงานควรได้รับเพิ่มขึ้นส่งผลให้บริษัทสัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีภาระที่จะต้องจัดเตรียมเรื่องประกันสุขภาพและระบบบำนาญไว้ให้กับพนักงานซึ่งกลายเป็นภาระที่หนักหน่วงในยุคที่มีการแข่งขันสูง

จุดพลิกผันที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงระหว่างปี 2523-26 เมื่อแจ็ค เวลส์แห่งบริษัทจีอีได้ทำการลดขนาดองค์กรด้วยการลดพนักงานลงถึง 35,000 คนและในปีต่อมาเขายังลดจำนวนพนักงานลงอีกถึง 37,000 คน  นโยบายนี้ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ  ในปี 2539 พนักงานของบริษัทรถยนต์จึงเหลือเพียง 350,000 คน แต่พนักงานของบริษัทชิ้นส่วนกลับเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคน  ค่าแรงของพนักงานภายในบริษัทใหญ่ ๆ จึงเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อยจากชั่วโมงละ 18.5 ดอลลาร์ในปี 2530 เป็นชั่วโมงละ 19 ดอลลาร์ในอีกสิบปีต่อมา  แต่ที่ร้ายที่สุดคือค่าแรงของพนักงานบริษัทชิ้นส่วนก็ลดลงจากชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์เหลือเพียงชั่วโมงละ 14 ดอลลาร์ด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน และสถานการณ์เดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยส่งผลให้ค่าแรงโดยรวมลดลงเพราะการลดขนาดองค์กรทำให้พนักงานขาดความสามารถในการต่อรองค่าแรง

นอกจากกลยุทธ์การส่งงานไปทำนอกบริษัทแล้ว  การรวมตัวในแนวตั้งก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทสัญชาติอเมริกันนิยมทำกันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน  การควบรวมกิจการเริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงระหว่างปี 2533-42 จากเหตุปัจจัยทางการเมือง 3 ข้อคือ การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ การรวมตัวกันของสหภาพยุโรป และข้อตกลงการค้าเสรีแห่งเมริกาเหนือ  แจ็ค เวลส์แห่งบริษัทจีอี เจ้าของฉายา Mr. Globalization เป็นคนแรกที่พยายามบริหารบริษัทในระดับโลก  จากนั้นมาแนวคิดนี้ก็แพร่กระจายเข้าไปในบริษัทอื่น ๆ จนส่งผลให้ตลาดโลกตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่บริษัท  เช่น บริษัทชาร์ปเป็นผู้ผลิตจอแบนถึง 60% ของที่ถูกผลิตขึ้นในโลก  การควบรวมกิจการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีใครสามารถห้ามปรามได้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่ามันจะทำให้เกิดการผูกขาดและอาจเป็นภยันตรายต่อความมั่นคงก็ตาม

แท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯ เป็นชาติที่เกลียดชังการผูกขาด  สงครามประกาศอิสรภาพของพวกเขาก็เกิดขึ้นเพราะต้องการต่อต้านการผูกขาด  นับจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาสหรัฐฯ จึงพยายามหาหนทางที่จะให้ทุกตลาดมีผู้ผลิตอย่างน้อย 3 รายซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของโจเซฟ ชุมเพเตอร์ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งทฤษฏีที่ใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน  ชุมเพเตอร์เชื่อว่าระบบทุนนิยมของสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ขายเพียง 2-3 รายจะส่งผลดีต่อสังคม ทั้งนี้เพราะระบบนี้จะมีการแข่งขันน้อย แต่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงคู่แข่งรายใหม่ที่อาจเกิดขึ้น  แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งแย้งว่าการที่ตลาดมีผู้ขายน้อยรายอาจทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอีกทั้งยังไม่ยินยอมลงทุนในการหานวัตกรรมใหม่ ๆ  ยิ่งไปกว่านั้นหากพวกเขาถูกบีบบังคับให้ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีให้กับบริษัทอื่นด้วยแล้วจะยิ่งทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดช้าลง

การส่งงานไปทำนอกบริษัทไม่เพียงเกิดขึ้นกับสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับงานธุรการด้วย  แกรี่ เวนท์  อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนของจีอีเป็นคนแรกที่จัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการงานด้านธุรการกับบริษัทต่าง ๆ ของจีอีโดยเลือกอินเดียเป็นฐานการให้บริการ ทั้งนี้เพราะชาวอินเดียมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและมีผู้มีการศึกษาที่สามารถทำงานเกือบทุกอย่างให้ได้ในราคาถูก   ผลงานนี้ของเขาสามารถเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทของเขามากกว่า 12 เท่าจากสองหมื่นสี่พันล้านดอลลาร์เป็นสามแสนล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงทศวรรษเดียว  ภายหลังเขาลาออกจากจีอีและตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเพื่อให้บริการงานด้านธุรการ จึงเป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วแม้แต่บริการหลักของบริษัทยังสามารถที่จะโอนถ่ายไปทำยังที่อื่น ๆ นอกบริษัทได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 3 อย่างคือ โลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและทฤษฏีการบริหารองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดการปฏิวัติในการทำธุรกิจที่ผู้เขียนเรียกว่า Copernican Revolution  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลกับวิธีการทำธุรกิจเหมือนอย่างที่ศาสตราจารย์ไมเคิล อี พอตเตอร์กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเป็นระยะล่าสุดของวิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร มันทำให้ความได้เปรียบทางการการแข่งขันกลายเป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก  บริษัทสามารถเปลี่ยนพนักงานที่มีความรู้ให้กลายเป็นเสมือนชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งที่สามารถสวมเข้าไปแล้วทำงานได้เลย ทั้งนี้เพราะงานสามารถถูกโยกไปทำที่ต่างประเทศได้โดยง่าย หรือเปลี่ยนไปให้เครื่องมือหรือโปรแกรมทำก็ยังได้  ผู้จัดการระดับสูงจึงมีอำนาจในการต่อรองกับพนักงานทั่วไปและพนักงานที่มีความรู้มากขึ้น  นั่นหมายความว่า การส่งงานไปทำนอกบริษัทเพียงแต่โยกความรับผิดชอบไปนอกบริษัทเท่านั้น แต่มิได้โยกอำนาจออกไปด้วย  การที่บริษัทส่งงานไปทำที่อินเดียจึงมิได้ทำให้อินเดียมีอำนาจมากขึ้นเพียงแต่ทำให้ชาวอินเดียมีโอกาสและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นบ้างเท่านั้น  อำนาจทั้งหมดยังคงตกอยู่ในมือของบริษัทชั้นนำทั้งหลายที่จะเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจตามความต้องการของพวกเขา

การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบันส่งผลให้บริษัทชั้นนำมีอำนาจมากขึ้นทั้งต่อผู้รับจ้างผลิตและนักลงทุน ทั้งนี้เพราะผู้รับจ้างผลิตก็ไม่กล้าที่จะรับจ้างผลิตให้กับบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ นักลงทุนจึงขาดทางเลือกทำให้บริษัทชั้นนำมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก และยังทำให้ผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้มีเวลามากพอที่ใช้อำนาจของตัวเองในการสร้างความมั่งคั่งส่วนตัวด้วย  รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างระบบขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารบริษัท นั่นคือ 1) ให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดทิศทางให้กับผู้บริหารและเพิ่มมาตรการป้องกันตัวให้กับผู้ถือหุ้นจากการกระทำของบริษัท 2) ให้นักลงทุนมีอำนาจในการกำหนดแม้แต่งานประจำวันของบริษัท 3) ให้ผลตอบแทนกับผู้บริหารเป็นหุ้นเพื่อให้เขาเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้เพราะผู้ถือหุ้นรู้สึกว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ทำงานตามความต้องการของตนด้วยต้นทุนของผู้ถือหุ้นส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่เดินไปอย่างขาดทิศทาง  กฎหมายเหล่านี้ทำให้บริษัทซึ่งเคยเป็นสถาบันที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำการค้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าให้กับสังคมถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มนักลงทุนที่ไม่เคยมีใครรู้จักและไม่สนใจว่าปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของพวกเขาจะเป็นเช่นไร

ในช่วงระหว่างปี 2533-42 ระบบแบบทันเวลาพอดี (just in time) ร่วมกับการส่งงานไปทำนอกบริษัทและการสร้างเครือข่ายระดับโลกทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถลดต้นทุนลงได้อย่างงดงาม  แต่กลยุทธ์ทั้งหมดนี้กลับทำให้เศรษฐกิจพังทลายลงเป็นขั้น ๆ  ตัวอย่างเห็นได้จากการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ตึกถล่มที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายนปี 2544 ส่งผลให้บางบริษัทเพิ่มจำนวนสินค้าคงคลังให้มากขึ้นเพื่อเป็นฉนวนในการรับมือกับวิกฤต  อย่างไรก็ดีบางบริษัทยังคงไม่มีมาตรการตั้งรับใด ๆ เพิ่มขึ้น ซ้ำยังไม่มีบริษัทใดเคลื่อนย้ายการผลิตกลับมายังประเทศของตนเองด้วย ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงปี 2543 ทำให้หลายบริษัทต้องลดงบประมาณลง  นอกจากนี้บริษัทส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการระมัดระวังมากเกินไปด้วยการเพิ่มสินค้าคงคลังหรือกระจายฐานการผลิตจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง  ซ้ำร้ายสถาบันอื่น ๆ นอกอุตสาหกรรมก็ขาดอำนาจในการบีบบังคับให้บริษัทปรับปรุงการบริหาร   ยิ่งไปกว่านั้นการที่บริษัทใหญ่ ๆ ทั้งหมดใช้แหล่งกำเนิดเพียงแหล่งเดียวก็มิได้ทำให้ผู้รับจ้างแข็งแกร่งมากขึ้นเพราะผู้รับจ้างต่างมีผู้จ้างที่มีศักยภาพในมือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  พวกเขาอาจมีอำนาจในการกำหนดราคาในระยะสั้นเท่านั้น มิได้มีอำนาจในการกำหนดราคาในระยะยาว  นอกจากนี้บริษัทชั้นนำเหล่านี้ยังมีเงินทุนและความชำนาญมากพอที่ทำให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งล้มได้ด้วย  ผู้รับจ้างจึงมิได้มีอำนาจเหนือบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้

เมื่อบริษัทสัญชาติอเมริกันสามารถที่จะประสบความสำเร็จจากการติดตามและดำเนินการกับข้อมูลจนทำให้สามารถคาดเดาอุปสงค์และอุปทานอีกทั้งยังสามารถวางแผนจนทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเหลือเชื่อเช่นที่เห็นในปัจจุบันจึงทำให้พวกเขาต่างละความสนใจในเรื่องแผนงานและเป้าหมายระยะยาวโดยหันมาให้ความสนใจแต่กับการแทนที่คู่แข่งเท่านั้น  นั่นหมายความว่า ระบบการผลิตในปัจจุบันได้หันเหจากมือนักผลิตสู่มือนักค้าปลีกและพ่อค้า และจากมือผู้บริหารมืออาชีพสู่มือนักลงทุน หรือถูกเปลี่ยนมือจากกลุ่มคนที่มีเหตุผลไปสู่การควบคุมของฝูงชนที่เต็มไปด้วยความหิวกระหายและความโลภ

ผู้บริหารที่นิยมนโยบายการส่งงานไปทำนอกบริษัทไม่เพียงแต่จะสร้างความเสี่ยงให้กับบริษัทและประเทศเท่านั้น พวกเขายังมักนำซากของบริษัทที่ล้มเหลวย้อนกลับไปเป็นภาระของรัฐอีกด้วย  ผู้เขียนได้ยกกรณีบริษัทโบอิ้งมาเป็นตัวอย่าง  ในเดือนเมษายนปี 2547  เมื่อบริษัทโบอิ้งไม่ประสบความสำเร็จในการนำสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าใหม่ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 40% เท่านั้น  ผู้บริหารโบอิ้งจึงประกาศกับผู้ฟังในญี่ปุ่นว่าแท้ที่จริงแล้วบริษัทมิได้ให้ความสนใจในเรื่องส่วนแบ่งตลาด พวกเขาให้ความสนใจแต่เฉพาะผลกำไรเท่านั้น  บริษัทโบอิ้งจึงบีบบังคับให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วยบริษัทมิตซูบิชิ บริษัทคาวาซากิและบริษัทฟูจิต้องลดราคาสินค้าลงและรับผิดชอบมากขึ้นส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นต้องกลายมาเป็นหุ้นส่วนที่รับผิดชอบต่อความเสี่ยงและต้นทุนในการพัฒนาเครื่องบิน  เพื่อความอยู่รอดของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการอนุญาตให้โครงการพัฒนาเครื่องบินนี้เป็นโครงการแห่งชาติ  แต่ก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ โบอิ้งยังได้บีบบังคับให้บริษัท ANA สายการบินสัญชาติญี่ปุ่นสั่งเครื่องบินกับบริษัทโบอิ้งไม่น้อยกว่า 50 ลำก่อน  นอกจากนี้บริษัทชิ้นส่วนสัญชาติออสเตรเลีย อิตาลีและจีนต่างต้องกลายมาเป็นหุ้นส่วนกับโบอิ้งด้วยเช่นกัน

บริษัทโบอิ้งเล่นเกมกับรัฐวอชิงตันด้วย  ผู้บริหารประกาศว่าหากรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐวอชิงตันต้องการให้บริษัทคงการประกอบเครื่องบินไว้ที่เดิมจะต้องยอมจ่ายหนี้ 3.2 พันล้านดอลลาร์ให้ซึ่งเท่ากับว่า โบอิ้งได้กระจายความเสี่ยงเกือบทั้งหมดไปยังประเทศอื่น ๆ และรัฐบาลท้องถิ่นที่เกรงว่าบริษัทจะอันตรธานหายไปซึ่งเท่ากับเป็นการประกันกับนักลงทุนว่าเงินของพวกเขาจะไม่สูญหายไปไหน  ในมุมมองของพ่อค้านั้นบริษัทโบอิ้งได้ตายเสียแล้ว พวกเขาได้ส่งมอบซากศพของตัวเองเข้าสู่มือของรัฐที่ยังคงเห็นว่าบริษัทนี้เป็นสมบัติสาธารณะ  โครงสร้างที่เป็นอยู่นี้ได้ทำลายโครงสร้างทั้งหมดโดยรวม ไม่มีใครได้ประโยชน์มากกว่าที่ตนเองกำลังได้อยู่  กรณีของโบอิ้งจึงเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวของบริษัทที่กลับกลายไปเป็นภาระของรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐวอชิงตัน  นั่นหมายความว่า กำไรของบริษัทโบอิ้งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายของสังคม  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันก็ประพฤติตัวคล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต  นอกจากนี้บริษัทเหล่านี้ยังมักไม่ใส่ใจในการวางแผน ลงทุน และความเป็นอยู่ที่ดีของบริษัทในระยะยาว  ผู้บริหารมักใช้อำนาจในการดึงความมั่งคั่งเข้าสู่ตนเองจนทำให้แนวโน้มของปัญหาร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้เขียนสรุปว่า 15 ปีหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง การบริหารจัดการของภาคเอกชนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจนก่อหายนะขึ้นกับทั้งเศรษฐกิจและการเมือง  จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น แต่สวัสดิภาพของสังคมอเมริกันกลับถูกผูกมัดอย่างเหนียวแน่นไปกับสังคมที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมและไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ห่างไกลออกไป เช่น คาบสมุทรเกาหลีหรือประเทศจีนอาจทำให้เกิดหายนะกับเศรษฐกิจอเมริกันได้อย่างง่ายดาย  นั่นหมายความว่า รัฐบาลอเมริกันทุกชุดหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงล้มเหลวต่อการบริหารจัดการที่จะค้ำประกันความปลอดภัยและอำนาจอธิปไตยของประเทศ  ซ้ำร้ายพวกเขายังหยิบยื่นภารกิจที่สำคัญนี้ให้กับกลุ่มนักลงทุนที่ไร้ศีลธรรมอีกด้วยจนชาวอเมริกันบางคนเริ่มกลับมาใหม่คิดว่า อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องหันกลับมาฟื้นฟูโครงสร้างของระบบเสียใหม่เพื่อค้ำประกันความปลอดภัยของระบบเศรษฐกิจซึ่งคงมิใช่เรื่องที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายนัก  บางชาติอาจเลือกที่จะเชื่อในระบบของสหรัฐฯ แล้วเดินตามต่อไป  ในขณะที่รัฐบาลบางประเทศอาจหันมาให้ความสนใจกับความต้องการและความมั่นคงของชาติตนเองมากขึ้นและเลิกเดินตามทางที่สหรัฐฯ อยากให้เดิน

แท้ที่จริงแล้วหนทางที่มนุษย์จะเลือกได้มี 2 ทางคือ 1) เลือกเดินตามทางเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและยอมให้การค้าเหล่านี้ตกอยู่ในกำมือของระบบผูกขาดหรือผู้ขายน้อยราย  แต่กลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ต้องทำเพื่อชาวอเมริกันทั้งมวลด้วยการให้ความมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมที่พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพิงเช่นเดียวกับที่รัฐบาลเคยให้ความมั่นใจกับประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรที่พวกเขาต้องการ 2) กระทำการใด ๆ ที่ไม่เพียงกำจัดความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมการกระจายความมั่งคั่งและโอกาสให้กับชาวอเมริกันและชาวโลก  บางทีวิธีการที่จะทำให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและปลอดภัยมากที่สุดเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวอเมริกันก็คือ การที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ มีหลายเจ้าของและมีการแข่งขันกันเพิ่มขึ้นทั้งในระดับกิจการ ผู้รับจ้างทำของและคนงาน  การแข่งขันกันทางธุรกิจก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่ให้ประชาชนแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ

ยุคสมัยของการค้าระหว่างชาติได้สิ้นสุดลงแล้ว  ในปัจจุบันโลกกำลังใช้ระบบเดียวกันกับที่บริษัทสัญชาติอเมริกันเป็นผู้สร้างขึ้น นั่นคือ ระบบอุตสาหกรรมที่เน้นในเรื่องความเฉพาะเจาะจง  การค้าเสรีที่เน้นในเรื่องของขนาด ประสิทธิภาพและการเชื่อมโยง  สิ่งที่ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจกระทำมิได้ทำให้ความมั่งคั่งถูกกระจายไปอย่างเท่าเทียมกัน  แต่พวกเขากลับเน้นไปที่การรวมตัวกันเพื่อดึงดูดเอาความมั่งคั่งไปจากทั้งประชาชนและสังคมโดยรวมซึ่งอำนาจนี้เป็นผลมาจากการอนุญาตของประชาชนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังคงเห็นว่าโลกยังมีหนทางที่จะแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจยังสามารถเติบโต และยุติธรรมกับประชาชน อีกทั้งยังสามารถที่จะมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาวด้วยการ 1) ใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีบริษัทชั้นนำบริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถครอบครองตลาดอเมริกันมากกว่า 25%  2) จำกัดมิให้นำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแหล่งเดียวมากกว่า 25% ของผลผลิตที่ชาวอเมริกันบริโภค 3) บริษัทต่าง ๆ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจาก 2-3 แหล่งและจากผู้รับจ้างผลิต 2-3 แห่งที่มีถิ่นฐานแตกต่างกัน 4) สร้างความสามารถในการผลิตของโรงงานให้เข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลการตั้งราคาของบริษัทผู้นำ 5) ผู้บริหารต้องแจ้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้นักลงทุนทราบถึงความเสี่ยงที่แท้จริงของบริษัท 6) ให้อำนาจกับคนงานในการถ่วงดุลกับผู้ถือหุ้นเพื่อป้องกันมิให้บริษัทใหญ่ ๆ สร้างผลกำไรจากการใช้ทุนทางสังคม  7) สร้างระบบบริหารจัดการของสหรัฐฯ ให้เป็นแบบมืออาชีพโดยการห้ามให้หุ้นกับผู้บริหาร ให้เพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น 8) ให้คำจำกัดความใหม่กับสัญชาติของบริษัทซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้นโยบายภาษีและแยกแยะว่ารัฐควรให้การสนับสนุนทางด้านงานวิจัยกับบริษัทใดหรืออนุญาตให้บริษัทใดพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร ผู้เขียนเชื่อว่าหากนโยบายเหล่านี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เศรษฐกิจจะปลอดภัยมากขึ้นและยังสามารถเติบโตผ่านนวัตกรรม อีกทั้งยังสามารถสร้างสันติสุขได้ในระยะยาว

ข้อคิดเห็น - หนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยแนวนโยบายการค้า การเมืองและต่างประเทศของสหรัฐฯ อันเป็นที่มาของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันอย่างละเอียดลออซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาของวิธีการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างลึกซึ้ง  กลยุทธ์การทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางบริษัทข้ามชาติและนักศึกษาที่ใช้ตำราอเมริกันเป็นฐานในการศึกษาด้วย  จริงอยู่นโยบายการค้าเสรีได้ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ขาดความสามารถในการควบคุมกิจการภายในของตนเองเมื่อพวกเขาอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ กลายเป็นผู้จ้างแรงงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดและเป็นผู้เข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศ  อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องหันมาพิจารณานโยบายการค้าและต่างประเทศใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและคนไทยหวนกลับมามีอำนาจในประเทศที่มีอธิปไตยเป็นของตัวเองผืนนี้

อ้างอิงที่มา http://www.bannareader.com/data-6790.html

1 comment:

  1. Titanium Pipes - Etixi - Titsanium-arts
    Titsanium Pipes - Etixi. 2021 ford escape titanium hybrid Our signature habanero titanium piercings salsa adds that mokume gane titanium classic tangy flavor with a slow bite. Ingredients: habaneros, pineapple pulp, tomato stiletto titanium hammer pulp, mens titanium braclets white $3.99 · ‎In stock

    ReplyDelete