Monday, May 11, 2015

เครื่องมือในการยึดครองโลกของระบบทุนนิยม

คำว่า "ผู้บริโภค" จริงๆเขาหมายถึงเหยื่อนั่นเอง เพียงแต่เรียกให้สุภาพเท่านั้นแหละ
ภายใต้ชีวิตสะดวกสบายจะซื้ออะไรก็มีขาย จะต้องการอะไรก็หาให้ได้อย่างเช่นทุกวันนี้ จะมีสักกี่คนที่รู้ความจริงว่า เราเป็นแค่ไก่ในเล้าของระบบทุนเท่านั้น

เพราะอะไร?

สินค้าทุกชิ้นที่เราซื้อมาใช้นั้นล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรกำกับอยู่ทั้งนั้น จะไปทำลอกเลียนแบบโดยไม่จ่ายเงินค่าสิทธิ์ก็ไม่ได้ หรือสินค้าอย่างน้ำมัน ก็มาจากระบบสัมปทานผูกขาด

บางคนก็อาจจะเถียงว่า ก็คนเขาคิดขึ้นมาได้ ด้วยความเหนื่อยยาก ก็ต้องเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะหารายได้น่ะสิ

แต่ถ้าลองมองดูกันถึงความเป็นจริง ลิขสิทธิ์ทั้งหลาย สิทธิบัตรทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย สุดท้ายล้วนตกอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งนั้น ชนิดที่คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์แม้แต่น้อย ไม่เชื่อไปถามคนแต่งเพลงหรือนักร้องในเมืองไทยก็ได้ว่าจริงหรือไม่

ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือแม้กระทั่ง สัมปทานในทรัพยากรทั้งหลาย คงจะไม่มีปัญหาอะไรถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าของจะไม่นำไปใช้หากินในเชิงผูกขาดจนเกินเลยความพอดีดังเช่นในปัจจุบัน

แถมสิทธิบัตรหลายๆอย่างยังเกิดจากการเอาภูมิปัญญาสาธารณะของแต่ละท้องถิ่นมาดัดแปลงนิดๆหน่อยๆหรือบางทีก็ขโมยกันดื้อๆเอาไปจดสิทธิบัตร จนทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านั้นถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนชาวบ้านไม่สามารถที่จะนำภูมิปัญญาเหล่านั้นไปทำมาหากินได้อีกต่อไป เพราะมีคนขโมยเอาไปเป็นเจ้าของเสียแล้ว

ไม่เท่านั้น เมื่อบริษัทใหญ่ทั้งหลายลอกเลียนแบบสินค้าของคู่ค้าหรือคู่แข่ง กลับไม่มีกฎหมายใดเอาผิดได้ เพราะมันใหญ่จะผู้รักษากฎหมายเกรงใจ

นี่แหละครับที่เคยบอกว่าทุนนิยมทำลายรากเหง้าอารยธรรมมนุษย์ เพราะต้องการผูกขาดทุกอย่างในโลกเพื่อให้เราใช้เงินซื้อ หลอกล่อให้เราลดการผลิดปัจจัยสี่ด้วยตัวเองลงจนหมด ทำให้เราขี้เกียจ จนทำอะไรไม่เป็น ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นความลับทางธุรกิจ อธิบายให้มันซับซ้อนเพื่อให้เกิดความยากลำบากในการทำความเข้าใจและเข้าถึง โยนให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่พูดแต่ศัพท์แสงซึ่งฟังไม่รู้เรื่อง จะได้ทำการผูกขาดหากินทำกำไรกับเราไปได้เรื่อยๆ


เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ เคยพูดเอาไว้ว่า ควบคุมน้ำมันได้ก็ควบคุมชาติได้ ควบคุมอาหารได้ก็ควบคุมประชากรโลกได้ แล้วลองหันไปรอบๆตัวคุณดูสิครับว่า มีอะไรที่ยังไม่ถูกผูกขาดเอาไปขายทำกำไรบ้าง ทุกอย่างที่เราบริโภคเข้าไปล้วนถูกผูกขาดด้วยทุนใหญ่เกือบหมดแล้วครับ ด้วยเครื่องมือทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

เมื่อทุกอย่างล้วนมีลิขสิทธิ์ มีสิทธิบัตร หรือถูกผูกขาดโดยสัมปทาน ข้าวของทั้งหลายก็พร้อมจะแพงขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะสินค้าทั้งหลายถูกผลิตจากนายทุนผู้ผลิตไม่กี่ราย และไม่มีใครอยากจะลดราคาเพื่อตัดกำไรของตัวเอง การผูกขาดตลาดอย่างไม่เป็นทางการจึงมีให้เห็นกันได้ทั่วไปโดยไม่ผิดกฏหมาย

ถึงขนาดมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตอาหารขนาดยักษ์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า แม้แต่แหล่งน้ำก็ควรจะใช้ระบบสัมปทาน ไม่ควรให้ประชาชนทั่วไปใช้ฟรีๆ เอากันถึงขนาดนี้เลยครับ เชื่อว่าอีกหน่อยเราอาจจะไม่สามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้เองในสวนในไร่ได้เหมือนบางรัฐในอเมริกาด้วยซ้ำไป

อำนาจของระบบทุนมีมากถึงขนาดที่ว่าสามารถควบคุมรัฐบาลของประเทศต่างๆ เพื่อออกกฏหมายที่จะเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนในทุกทาง ซึ่งก็หมายถึงการริดรอนสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการผูกขาดครอบงำชาติโดยสมบูรณ์ ชนิดที่ประชาชนในชาตินั้นๆแทบจะไม่รู้เท่าทันเลย

ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เท่าทันก็เพราะนายทุนทั้งหลายก็เป็นเจ้าของสื่อหรือมีเงื่อนไขในการบีบสื่อเอาไว้ในมือ สื่อต่างๆจึงเป็นเครื่องมือของนายทุนในการที่จะบิดเบือนความจริง ปิดบังความจริง ไม่ให้ประชาชนในชาติรู้ตัวว่ากำลังถูกปล้น เรียกว่าควบคุมเอาไว้แทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ

ดังนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เราจะมีเสรีภาพแบบที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเลย เพราะเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพอย่างแท้จริงก็คือเงินนั่นเอง ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีสิทธิ์ครับ มีสิทธิ์แค่กาบัตรเลือกตั้ง แต่หมดสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่แบบไม่บีบคั้นกดดัน

การควบคุมประชากรโลกนั้น เขาใช้ระบบเงินเป็นแกนกลาง โดยสร้างภาพให้เงินเป็นปัจจัยสูงสุด มีค่าที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ดิ้นรนแสวงหาแต่เงิน สร้างภาพการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรให้เป็นคนด้อยโอกาส เป็นกลุ่มคนด้อยพัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อที่คนในระบบจะได้ไม่วิ่งกลับไปพึ่งพาตนเองอีก เรียกว่าเอาความกลัวครอบเราไว้อีกที แล้วค่อยเสนอขายสินค้าที่โฆษณาว่าจะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้น แล้วทุกคนก็จะไปเป็นหนี้ ซึ่งหนี้มันคือเครื่องมือในการสร้างระบบทาส ทำให้คนเป็นหนี้ถูกโบยตีด้วยเงินค่างวดและทุกข์ทรมานกับดอกเบี้ยท่วมหัวไปอีกนานแสนนาน

อ่านแล้วดูเหมือนจะหมดหวัง แต่จริงๆแล้วมีผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มเห็นความคับแคบเหล่านี้ ได้สร้างระบบและมาตรฐานการแบ่งปันหลายๆรูปแบบขึ้นมาเพื่อลดการผูกขาด อย่างเช่น สิทธิ์แบบ creative common ที่ออกมาแก้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ผูกขาดมากเกินไป สิทธิบัตรแบบ open source คือระบบการแบ่งปันสิทธิ์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดสร้างสินค้าในแบบของตน ซึ่งมีผลทำให้สินค้าที่ผลิตจากระบบ open source สามารถทำราคาต่ำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เราเรียกรวมๆว่า open ecology หรือระบบนิเวศน์แบบเปิด ซึ่งมีรูปแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายสามารถอยู่ร่วมกัน แบ่งปันกัน และพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างสมดุล ผิดกับระบบผูกขาดสิทธิ์ที่เอาทุกอย่างไปเป็นเจ้าของจนหมด

และยิ่งระบบทุนบีบคั้นผู้คนด้วยการผูกขาดครอบครองมากเท่าไหร่ ระบบ open ecology จะยิ่งขยายออกไปมากเท่านั้น เพราะผู้คนเริ่มตระหนักรู้แล้วว่าเราไม่สามารถจะอยู่รอดได้โดยลำพังคนเดียวท่ามกลางความฉิบหายจากการผูกขาดของระบบทุน แต่เราควรทำตัวให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์โดยรวมต่างหากครับ


No comments:

Post a Comment