Monday, June 15, 2015

ตลาดเสรีไม่มีจริง

ยิ่งกิจการใหญ่โตก็ยิ่งผูกขาด
เชื่อว่าทุกท่านคงเคยเห็นข่าวหรือสัมผัสได้ด้วยตนเองจากการทำการค้าขาย แล้วพบว่า ตลาดแต่ละแห่งนั้น ล้วนมีเจ้ามือ หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่คุมอยู่ ทั้งในแบบที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย

แล้วตลาดเสรีแบบที่เราได้เรียนรู้มาจริงๆนั้นอยู่ตรงไหน?

ตลาดเสรีในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นเพียงทฤษฎีที่อยู่แต่ในแผ่นกระดาษเท่านั้นครับ ตลาดเสรีในโลกของความเป็นจริงมันไม่มี ที่มันไม่มีเพราะอำนาจต่อรองและอำนาจครอบงำเหนือตลาดของรายใหญ่นั่นเอง และแม้จะมีกฎหมายมากำกับควบคุมเพื่อให้เกิดตลาดเสรี แต่ที่สุดแล้วตัวกฎหมายเองก็โดนบิดเบือนและถูกละเลยโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับกฎหมายเสียเอง ตัวอย่างมีมากมายครับ เช่น

บางท่านอาจจะเคยพยายามนำสินค้าไปขายในห้าง แต่เจอรายใหญ่กีดกัน โดยทำสัญญาผูกขาดกับห้างไว้ว่า ไม่ให้ผู้ขายรายอื่นที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันมาขายแข่งกับตนในห้างเดียวกัน ที่ทำได้แบบนี้ก็เพราะมีสาขาร้านอยู่ทั่วประเทศเป็นตัวต่อรอง

บางท่านอาจจะเคยเอาสินค้าเกษตรไปขายให้กับคนกลางรายใหญ่ ซึ่งรับซื้อสินค้าเกษตรแบบไม่อั้น และด้วยอำนาจทุนที่มีมากนี้เอง ก็ได้ใช้เป็นเงื่อนไขในการกดราคาซื้อสินค้าเกษตรกับเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม และนำสินค้าที่ซื้อมาได้ถูกๆนั้น ไปขายต่อโดยตั้งราคาไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็น และเรียกมันว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มจริงนอกจากราคา เรียกว่าไม่เป็นธรรมกับทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มส่วนต่างของกำไรตัวเองให้มากขึ้น

บางท่านเปิดร้านโชว์ห่วยอยู่ดีๆ ก็โดนรับน้องด้วยร้านสะดวกซื้อของรายใหญ่ที่เปิดล้อมเอาไว้หมดทุกด้าน ดักหน้าดักหลังจนในที่สุด ขายไม่ได้ ขาดทุนก็ต้องปิดตัวลง

บางท่านอาจจะเคยเปิดบริษัทเพื่อทำงานอย่างที่ใจรัก มีฝีมือ แต่ไม่ค่อยมีคอนเนคชั่น ก็หวังว่า ลูกค้าจะเปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ ภายใต้คำว่าตลาดเสรี แต่สุดท้ายก็กลับเจอสายสัมพันธ์ของรายใหญ่เอางานไปกินจนหมด ไม่มีโอกาสแจ้งเกิดอีกเลย

บางท่านผลิตสินค้าออกมาน่าสนใจมาก แต่โดนรายใหญ่กีดกันตลาดและใช้เวลาไม่นานในการที่จะลอกเลียนแบบสินค้าที่เหมือนกันออกมาขายในช่องทางจำนวนมากของตนเองแทน

พ่อค้าแม่ค้าตามริมถนนที่ไม่ค่อยมีโอกาสทางการค้าและอาศัยหาบเร่แผงลอยทำอาชีพประทังชีวิต ก็มักจะเจอไล่ที่จากทางบ้านเมือง จนไม่มีที่ขายของ จะจัดระเบียบก็จัดไป จัดให้พอมีทางเดิน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อย่าไปกำจัดให้หมดไป บริบทของคนไทยไม่เหมือนเมืองนอก จะไม่ให้ขายของเลยมันก็เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่อย่างนั้นคนไทยก็จะต้องกินของสำเร็จรูปแพงๆจากนายทุนรายใหญ่เท่านั้น เอาเหรอ

ประเทศต้นแบบทุนนิยมอย่างอเมริกายังเคยใช้อำนาจเงินที่ล้นฟ้า สร้างและบิดเบือนกลไกในระบบเงิน ในตลาดหุ้นหรือแม้แต่กระทั่งการโจมตีค่าเงินบาทที่เราโดนกันมาเมื่อปี 2540

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงตลาดหุ้นเลยครับ รายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีใครทันเจ้ามือแน่ๆ เป็นแมงเม่าให้เขาก็เท่านั้นเอง ที่เราเห็นคนเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จแล้วออกมาเขียนหนังสือเชียร์ให้เราบินเข้ากองไฟนี่มันส่วนน้อยครับ มีคนได้มากก็ต้องมีคนเสีย แต่ไม่เห็นมีใครออกมาพูดถึงตอนตัวเองเจ๊ง

เห็นไหมครับ ตลาดเสรีไม่มีจริง ทุกตลาดล้วนมีเจ้าตลาดหรือมาเฟียควบคุมตลาดอยู่แล้วทั้งหมด ถ้าไม่นายทุนใหญ่ ก็นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองนั่นแหละ จะเข้าจะออกก็ต้องไปบอกกล่าว เซ่นไหว้เสียก่อน ขืนทะเล่อทะล่าเข้าไปขายของไม่ดูตาม้าตาเรือ คุณอาจจะเจ็บตัวได้ง่ายๆเลยทีเดียว ซึ่งปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้มีที่ประเทศไทยที่เดียวนะครับ แม้แต่ประเทศเจริญแล้วอย่างอเมริกาหรืออังกฤษก็เป็นเหมือนกัน เรียกว่าถ้าไม่มีพรรคพวกที่มีอำนาจเส้นสาย ต่อให้เก่งยังไง แต่ไม่ยอมสยบให้เจ้าตลาด ให้เขาได้มีส่วนแบ่งกำไรกินเปล่า ก็ยากที่จะเกิดครับ

ด้วยเหตุนี้เองที่สุดท้าย ทุนรายใหญ่จะกลืนกินธุรกิจเล็กธุรกิจน้อยจนหมด จนกลายเป็นตลาดผูกขาดอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการผูกขาดที่ซับซ้อนเกินกว่าที่กฎหมายจะจับได้ไล่ทัน และเมื่อทุนใหญ่กินรวบหมดแล้ว คนที่จะเดือดร้อนต่อไปก็คือผู้ผลิตและผู้บริโภคครับ

เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจนั้น ต้องการกำไรมากที่สุด ทำงานง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด รับผิดชอบน้อยที่สุด และผูกขาดมากที่สุด ไม่เชื่อไปดูวิถีทางของธุรกิจใหญ่แต่ละรายได้เลย ดำเนินมาตามแนวทางนี้ทั้งนั้น จนกระทั่งคำว่าธรรมาภิบาลหดหายไปจนหมด บ้างก็แนบเนียน บ้างก็ไม่แนบเนียนจนกลายเป็นที่ด่าทอของผู้บริโภคใน social network แต่กระแสก็จะหายไปในเวลาอันรวดเร็ว เพราะผู้คนในปัจจุบัน อ่อนแอเกินกว่าจะพึ่งพาตนเองได้แล้ว ด่าเขาไปก็ต้องพึ่งเขาไป เอาสิ

มีคลิปวิดีโอมากมายที่อธิบายว่าทำไมทุนนิยมไม่เวิร์คอีกต่อไป เพียงแต่ว่าเราจะเปิดตาดูมันหรือไม่

นอกจากผู้บริโภคจะเดือดร้อนแล้ว ผู้ผลิตวัตถุดิบรายย่อยก็จะโดนรายใหญ่เจ้าตลาดกดราคามากยิ่งขึ้น ผูกขาดและตั้งเงื่อนไขมากยิ่งขึ้น ดังเช่นที่เกิดกับระบบเกษตรพันธสัญญาที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องล้มตายปิดกิจการลงเพราะหนี้ท่วมหัว

บางคนอาจจะเถียงว่านี่ไงล่ะคือตลาดเสรี ใครจะทำอะไรก็ได้ แบบนี้ก็ไม่ถูกต้องครับ ตลาดเสรีจริงๆควรจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่มีใครสามารถตั้งเงื่อนไขเพื่อสร้างอำนาจครอบงำตลาดได้อย่างที่เกิดขึ้นกับตลาดสินค้าและบริการทุกชนิดดังเช่นในปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น จนผู้คนส่วนใหญ่ทนความบีบคั้นกดดันไม่ไหวและนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนในที่สุด

ตลาดเสรีที่พอจะเป็นจริงได้บ้างก็อาจจะเป็นตลาดในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น(ณ ตอนนี้นะ) แต่เดี๋ยวถ้านายทุนรายใหญ่รู้สึกว่าการค้าขายในอินเทอร์เน็ตเริ่มตัดรายได้ตัวเองมากๆเข้า เขาก็จะผลักดันให้ทุกคนเข้ามาสู่ระบบผ่านกลไกของรัฐ ด้วยเครื่องมือทางกฏหมายที่เอื้อกลุ่มทุนใหญ่มากกว่า ให้ทุกคนเข้ามาสู้ในพื้นฐานที่เขาได้เปรียบ สุดท้ายแล้วก็จะถูกบีบให้ตายกันหมดเหมือนเดิม

อย่าลืมนะครับว่าไม่มีใครสามารถกอบโกยเงินแล้วใช้ชีวิตอย่างหรูหราไปได้ตลอด ท่ามกลางความผุพังล่มสลายของสังคมหรอกครับ เพราะที่สุดแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความมั่งคั่งที่นายทุนส่วนใหญ่ได้รับนั้น มันก็มาจากฐานแรงงานราคาถูกของสังคมที่ก้มหน้าก้มตาทำงานในส่วนของนายทุน ให้ได้มีกินมีใช้กันอย่างสุขสบายทั้งนั้น

ไมมีใครชนะฝ่ายเดียวจริง ไม่มีใครเอาตัวเองรอดได้จริง ถ้าไม่เชื่อก็ลองบีบคั้นคนชั้นกลางและชั้นล่างให้สุดๆไปเลยก็ได้ครับ จะได้รู้ครับว่าเขาไม่รอดแล้วเราไม่รอดมันเป็นยังไง

No comments:

Post a Comment